Hfocus -ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีมติยกคำร้อง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับพวกรวม 16 คน ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 กรณียกเลิกโครงการประกวดราคาระบบคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีมูลค่า 821 ล้านบาท โดยป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 และยังมีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 ว่าการดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาไม่มีมูลความผิด ให้ยกคำร้องเช่นกัน
มติดังกล่าวกลายเป็นว่า ตลอดเกือบ 10 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการพิจารณาคดีคอมพิวเตอร์เมื่อปี 2547 ได้สิ้นสุดลงเสียที แต่งานนี้มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายเห็นด้วย แน่นอนว่าย่อมเป็นกลุ่มที่ถูกร้องมาตลอดเกือบ 10 ปี ขณะที่อีกฝ่าย ที่เกิดข้อพิพาทร่วมกันมายาวนาน กลับเงียบกริบ ไม่มีหลุดแม้แต่คนเดียว
จากการสอบถามแหล่งข่าวทางฟาก “นพ.วัลลภ ไทยเหนือ“ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการที่ปะทะกับ “คุณหญิงสุดารัตน์” มาเกือบ 10 ปี ต่างรู้สึกไม่แปลกใจถึงมติ ป.ป.ช.ครั้งนี้ เนื่องจากเดาได้ไม่ยาก เพราะ ป.ป.ช. เลื่อนการพิจารณาถึง 2 ครั้ง เริ่มจากวันที่ 18 มิถุนายน ไปเป็นวันที่ 20 มิถุนายน 2556 และสุดท้ายก็เลื่อนอีกเป็นวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งสุดท้ายก็ยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม จริง ๆในแวดวงเริ่มมีแววว่า เรื่องจะจบเช่นนี้ตั้งแต่ สมัยที่ ภก. ภักดี โพธิศิริ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และประธานอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้ แต่เกิดปัญหาที่คุณหญิงสุดารัตน์ ไปร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ภก.ภักดี ไม่เหมาะสม เพราะมีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากในสมัยเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ภก.ภักดี เคยดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง หรือทีโออาร์โครงการคอมพิวเตอร์ฯ ด้วยเหตุนี้ ท้ายที่สุด ภก.ภักดี ต้องถอนตัว
“ในแวดวงสาธารณสุขตั้งข้อสังเกตโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ฯ ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ซึ่งเดิมทีเป็นความรับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่เริ่มตั้งสำนักงานฯ ตั้งแต่ปี 2545 โดยได้จัดทำโครงการสร้างระบบแม่ข่ายฐานข้อมูลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้น งบประมาณ 200 ล้านบาท ขณะนั้นมีบริษัทคู่สัญญา คือ บริษัทกิจการร่วมค้า พีสแควร์ ไทยคอม แต่นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.คนแรก มองว่าโครงการนี้อาจมีปัญหา จึงขอโอนให้กระทรวงฯ ดำเนินการ ส่วนสปสช.จะเป็นคณะกรรมการตรวจรับงานเท่านั้น แต่จากนั้นก็มีโครงการคอมพิวเตอร์ดังกล่าวขึ้น มีมูลค่าเกือบ 900 ล้านบาท เนื่องจากจะต้องเป็นระบบลูกข่ายที่เชื่อมโยงกับระบบแม่ข่ายของ สปสช. นั่นเอง แต่สุดท้ายกลับเกิดปัญหาเรื่องสเป็กคอมฯ ขึ้น หลายคนตั้งคำถามว่า ในเมื่อเป็นบริษัทเดียวกัน แต่เพราะเหตุใดสเป็กจึงแตกต่าง หากพบความผิดปกติตั้งแต่ช่วงแรกก็น่าจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตั้งแต่สมัย สปสช.แล้ว”
เรื่องนี้จึงเป็นศึกที่ไม่จบสิ้น กระทั่งเมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว โดยมีบริษัทอีกแห่งเข้าร้องเรียนว่า บริษัทร่วมค้า พีสแควร์ฯ ไม่เหมาะสม แต่กลับไปร้องเรียนที่สำนักรัฐมนตรี สุดท้ายมีการยกเลิก บริษัทพีสแควร์ฯ ก็ไม่พอใจ เกิดประเด็นฟ้องร้อง กลายเป็นเรื่องเป็นราว ไม่เพียงเท่านี้ที่กลายเป็นปัญหามาเกือบ 10 ปี คือ ศึกระหว่างฝ่ายการเมือง นำโดย “คุณหญิงสุดารัตน์” และ “นพ.วัลลภ” ก็เกิดขึ้น เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ สั่งย้ายนพ.วัลลภ ออกจากปลัดกระทรวงฯ ไปสำนักนายกรัฐมนตรี กระทั่งเจ้าตัวไม่ยอม ขอลาออก และนำไปสู่คดีคอมพ์ฉาว 900 ล้านบาท ที่อยู่ในชั้น ป.ป.ช. นั่นเอง
เมื่อมติป.ป.ช.สิ้นสุด นอกจากคุณหญิงสุดารัตน์ จะดีใจขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก็ยังมี นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงฯ อดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หนึ่งในกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ยังเปิดใจว่า ในสมัยที่ตนเป็นกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ถูกข้อกล่าวหา 2 ข้อ คือ 1. กล่าวหาว่าคณะกรรมการฯ รายงานเท็จเรื่องคะแนนให้กับบริษัทฯ 2.ถูกกล่าวหาว่ายกเลิกมิชอบ ทั้งๆที่การยกเลิกเป็นไปเพื่อประโยชน์ราชการ ทั้งนี้ เมื่อมีการตรวจสอบ จึงพบว่ามีคนไปให้ข้อมูล ปปช. โดยทำเป็นหลักฐานเท็จขึ้น คณะกรรมการฯจึงแจ้งความสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องบุคคลที่ทำข้อมูลเท็จ เนื่องจากพบว่า มีการทำคะแนนให้กับบริษัทเท็จ โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาคะแนน 80 คะแนน แต่กลับมีคนทำเป็น 94 คะแนน ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงมีการฟ้องร้องเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2552 กระทั่งศาลขั้นต้นพิจารณาว่า คณะกรรมการฯ เป็นฝ่ายถูกต้อง เพราะมีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์
“ผมรับราชการมานาน ทำงานเต็มที่มาตลอด และยังได้รับการไว้วางใจจากองค์การอนามัยโลก โดยได้ให้สัมภาษณ์ลงเว็บไซต์องค์การอนามัยโลกถึงประสบการณ์ของไทยในเรื่องธรรมาภิบาลระบบยา แต่ผมกลับถูกสังคมไทยตั้งคำถาม ทั้งๆที่กระบวนการพิสูจน์ยังไม่จบ เรื่องนี้จึงเป็นบทเรียนให้สังคมว่า ไม่ควรฟังเฉพาะผู้กล่าวหา ขณะที่สื่อก็ควรรอบรู้กว่านี้ ไม่ใช่พอเขาพูดอะไรก็เชื่อ ทำร้ายคนอื่นทั้งที่ทำดีอยู่ ยกตัวอย่าง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ทำเรื่องนโยบายค่าตอบแทนที่ผสมผสานคิดตามผลปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีขวัญกำลังใจ อยากให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กลับถูกโจมตี เรื่องนี้ต้องเรียนรู้ด้วย” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว
ส่วนจะมีการฟ้องร้องกลับอีกหรือไม่นั้น นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า มีความคิด 2 อย่าง คือ 1. ให้อภัย และ 2. มีคนถามว่าจะไปทำกับคนอื่นอีกหรือไม่ หากทิ้งไว้ เกรงว่าจะเป็นบรรทัดฐานส่งผลให้คนอื่นเดือดร้อนหรือไม่ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ 3 กลุ่ม คือ 1.ฝ่ายการเมือง 2. คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา และ 3.กรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการประกวดราคาฯ ทั้งสามกลุ่มต้องแยกส่วนกัน ในส่วนที่ตนเองเป็นกรรมการ คือ กรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ก็ต้องมีการนัดหารือกันอีกที
- 44 views