น.ส.อารี ทัตติยพงศ์ สถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงงานวิจัยพัฒนาการรักษาเชื้อไวรัสเด็งกีหรือโรคไข้เลือดออกว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างกรมวิทย์ กับมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากไจก้า (JICA) และเจเอสที (Japan Science and Technology Agency : JST) ตั้งแต่ปี 2553 โดยเป็นการนำเลือดจากผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อไวรัสเด็งกีมาสกัดเอาเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาว แต่เซลล์เม็ดเลือดขาวไม่สามารถเลี้ยงหรือแช่เก็บไว้ได้นานพอสำหรับการทดลอง จึงต้องนำไปผสมกับสไปเม็กเซลล์ จนได้เซลล์ตัวใหม่ขึ้นมาเป็นเซลล์ลูกผสม ซึ่งมีคุณสมบัติสร้างภูมิคุ้มกันได้เหมือนเซลล์เม็ดเลือดขาว และสามารถเลี้ยงให้โตพอสำหรับการทดลองได้เหมือนสไปเม็กเซลล์ เรียกว่า โมโนโคลนอลแอนติบอดี
น.ส.อารีกล่าวว่า จากนั้นนำมาทดสอบคุณสมบัติ พบว่ายับยั้งเชื้อไวรัสเด็งกีได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ที่พบในประเทศไทย และแอนติบอดีจะจับเชื้อไวรัสเด็งกีได้ทันที จึงคาดว่าแอนติบอดีตัวนี้อาจจะสามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกหรือติดเชื้อไวรัสเด็งกีที่มีอาการรุนแรงได้ เหมือนการให้เซรุ่มพิษงู โดยกระบวนการผลิตมาจากมนุษย์ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
การทดลองนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบในลิงมาโมเสทและหนูทดลอง ซึ่งพบว่าป้องกันไม่ให้สัตว์ทดลองตายจากเชื้อไวรัสเด็งกีได้ จึงจดสิทธิบัตรแล้วที่สหรัฐอเมริกาและกำลังเตรียมที่จะแปลสิทธิบัตรเพื่อไปจดยังประเทศ อื่นๆ ด้วย รวมถึงไทย
"การจดสิทธิบัตรร่วมระหว่างกรมวิทย์ ม.โอซาก้า และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล โดยกรมวิทย์และม.โอซาก้า ทดลองตัวอย่างกลุ่มเล็กๆ ในเด็ก ส่วนคณะเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นการทดลองในผู้ใหญ่ ซึ่งขณะนี้ทางโครงการกำลังจะหาบริษัทเอกชนเพื่อที่จะนำการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีนี้ไปทดลองในคนวงกว้างต่อไป" น.ส.อารีกล่าว
--ข่าวสด ฉบับวันที่ 9 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 28 views