ASTVผู้จัดการรายวัน - กฎหมายยาสูบช่องโหว่เพียบ บ.บุหรี่หันส่งเสริมการขายผ่านพริตตี้CSR อินเทอร์เน็ต หนักสุดผุดแอปพลิเคชันเลียนแบบการสูบบุหรี่ผ่านโทรศัพท์มือถือ นักวิชาการชี้ทำให้เด็กเข้าถึงง่ายและซึมซับการสูบบุหรี่โดยไม่รู้ตัว เร่ง สธ.ออกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ห้ามขายทุกรูปแบบ

วานนี้ (4 ก.ค.) นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข กล่าวแถลงข่าวการประชุมวิชาการ "บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ" ครั้งที่ 12  เรื่อง "กลลวงโฆษณาของพ่อค้าบุหรี่" จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับการห้ามการโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการสนับสนุนโดยยาสูบทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับไทยมีกฎหมายควบคุมเกือบครบถ้วน แต่การโฆษณาแฝงกฎหมายไทยยังไม่มีการห้าม จึงมีการดำเนินการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. ...(ฉบับใหม่) ซึ่งมีการควบคุมเรื่อง การห้ามเผยแพร่ข่าวสาร หรือ  CSR ในทุกสื่อ และปรับปรุงคำนิยาม "การโฆษณา" ให้ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ๆ อาทิ การใช้สื่อบุคคล "พริตตี้" ในการส่งเสริมการขายยาสูบ เป็นต้น

ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ นิ่มพิทักษ์พงศ์ คณะเภสัชศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าวว่า ผลสำรวจการสูบบุหรี่ของเยาวชน 13-15 ปีของไทยพบว่าร้อยละ31 เคยพบเห็นการโฆษณาบุหรี่ ร้อยละ 9.3 มีสิ่งของที่มีตราหรือโลโก้บุหรี่ และร้อยละ 5.5 เคยได้รับบุหรี่ทดลองฟรีจากบริษัทบุหรี่ นอกจากนี้ ยังพบว่า 1 ใน 4 ของอัตราการสูบที่ลดลงเป็นผลมาจากการห้ามโฆษณา

"การห้ามโฆษณา และสื่อสารการตลาดทุกรูปแบบ ทำให้การบริโภคยาสูบลดลง แต่ปัญหาคือบริษัทบุหรี่ใช้การตลาดแบบใหม่ๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อเยาวชนอย่างมาก เช่น การโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต การทำแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เพื่อสร้างแบรนด์ให้ติดใจผู้บริโภคผ่านเกมและภาพเคลื่อนไหวในแอปพลิเคชัน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีแอปพลิเคชันเลียนแบบการสูบบุหรี่ โดยใช้โทรศัพท์มือถือมาจ่อที่ปากทำท่าเลียนแบบการสูบ ในจอก็จะปรากฏภาพควันบุหรี่ออกมา เป็นต้น ตรงนี้ทำให้เด็กเข้าถึงบุหรี่มากยิ่งขึ้น จึงต้องเร่งแก้ไข พ.ร.บ.นี้ ให้เท่าทันและเป็นปัจจุบัน" ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ กล่าว

ผศ.ดร.ปิยะรัตน์กล่าวว่า แม้แอปพลิเคชันที่เปิดให้โหลดต่างๆ จะมีการกลั่นกรองบ้างพอสมควรจากสโตร์ แต่แอปฯสูบบุหรี่แบบนี้แทบจะกลั่นกรองไม่ได้เลย กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่บริษัทบุหรี่อาศัยการแทรกแบรนด์เข้าไป จึงเป็นการโฆษณาข้ามพรมแดน การแก้ปัญหาตรงนี้ต้องอาศัยการทำงานของกฎหมายระหว่างประเทศ  ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการส่วนการโฆษณาบุหรี่และยาสูบในอินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะปิดมากเท่าไรก็ปิดไม่หมด ยกตัวอย่างวันนี้ปิดไป 20 เว็บ พรุ่งนี้มีเพิ่มขึ้นมาอีก เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 5 กรกฎาคม 2556