แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" กรณีการจัดการอันตรายจากแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคตามมติ ครม.วันที่ 12 เมษายน 2554 ที่ให้การรับรองมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 กำหนดมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปดำเนินการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินว่า หลังจากระยะเวลาผ่านไปได้ 3 ปี กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนงานเพื่อการลดและเลิกใช้แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบเสร็จเรียบร้อยและเตรียมที่จะเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ มติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ "ห้ามนำเข้า" แร่ใยหินไครโซไทล์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน และห้ามผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์กรณีที่สินค้านั้นมีวัตถุดิบอย่างอื่นที่สามารถทดแทนแร่ใยหินได้
พร้อมกันนี้ยังมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กลับไปศึกษาผลกระทบของแร่ใยหินที่มีต่อสุขภาพของผู้ใช้แรงงานที่ทำงานสัมผัสกับแร่ใยหินและผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากแร่ใยหินด้วย
ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแล้วพบว่า หากกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการห้ามนำเข้าและห้ามผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหินเป็นวัตถุดิบ ด้วยการกำหนดให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 การห้ามดังกล่าว 1) จะส่งผล
กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลายภาคส่วน เนื่องจากยังมีบางอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอยู่ อาทิ ปะเก็น ชุดป้องกันไฟ ฉนวนกันความร้อน หรือเครื่องมือในอุตสาหกรรม 2) ก่อให้เกิดปัญหาการจัดการผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบที่มีอยู่ในประเทศขณะนี้ และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ได้
อาศัยเหตุผลข้างต้นทั้ง 2 ประการ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ว่าจ้างคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทำการศึกษาผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม และข้อกฎหมายในการเลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าได้ข้อสรุปที่จะเสนอต่อ ครม.ว่า ควรกำหนดระยะเวลาในการยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบจำนวน 5 ผลิตภัณฑ์คือ 1) กระเบื้องแผ่นเรียบ มีระยะเวลาในการยกเลิก 2 ปี 2) กระเบื้องยางปูพื้น ระยะเวลาการยกเลิก 2 ปี 3) ผ้าเบรกและคลัตช์ ระยะเวลาการยกเลิก 5 ปี 4) ท่อซีเมนต์ใยหิน ระยะเวลาการยกเลิก 5 ปี และ 5) กระเบื้องมุงหลังคา ระยะเวลาการยกเลิก 5 ปี
"ที่เราใช้เวลาในการยกเลิกต่างกันระหว่างภายใน 2 ปีกับ 5 ปีนั้น นอกเหนือไปจากที่ให้ผู้ผลิตปรับตัวแล้ว ผลการศึกษาพบว่ากระเบื้องแผ่นเรียบกับกระเบื้องยางปูพื้นมีวัตถุดิบชนิดอื่น ๆ ที่สามารถใช้ทดแทนแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ได้ ดังนั้นเวลา 2 ปีข้างหน้าจึงใช้เป็นเวลาเตรียมการในการออกกฎหมายข้อบังคับ ส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าเบรก/คลัตช์-ท่อซีเมนต์ใยหิน-กระเบื้องมุงหลังคานั้น กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่ายังขาดผลการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวในคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ซึ่งมีนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากการใช้แร่ใยหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด (Pleural Mesothelioma) จากรายงานหลักฐานเชิงประจักษ์ของต่างประเทศ (WHO-ILO-ICOH) พบว่าสารแร่ใยหินทุกชนิดสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้
ดังนั้นมาตรการที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคจากแร่ใยหินก็คือ การยกเลิกการใช้แร่ใยหินทั้งหมดเพราะมาตรการอื่น ๆ เช่น Safe Use ไม่สามารถป้องกันประชากรกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ได้
ในขณะนี้มีประเทศที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้ว 55 ประเทศ เฉพาะทวีปเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มองโกเลีย, บรูไน, โอมาน, กาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต และสิงคโปร์
"ผมนึกแล้วว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเสนอให้มีช่วงเวลาในการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน จากเดิมที่สมัชชาสุขภาพมีมติให้ยกเลิกการนำเข้าและการใช้แร่ใยหินทันที เพราะผลการศึกษาก็ออกมาเห็นชัดแล้วว่า แร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็งปอด แต่ทำไมเรายังให้เวลาอุตสาหกรรมผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบสำคัญถึง 2-5 ปี ก่อนที่จะยกเลิก ที่สำคัญก็คือ ในรายของกระเบื้องมุงหลังคานั้นให้เวลาถึง 5 ปี แถมยังมีเงื่อนไขพ่วงเข้ามาอีกว่า ผลการศึกษาเรื่องมะเร็งยังไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ กระเบื้องหลังคามีผู้ผลิตหลัก 5 ราย ได้แก่ แบรนด์ "ตราช้างสมาร์ทวูด" ของเอสซีจี, แบรนด์ "เฌอร่า" และ "ห้าห่วง" ของกลุ่มมหพันธ์, แบรนด์ "คอนวูด" ของ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง, แบรนด์ "ตราเพชร" ของ บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร และแบรนด์ "โอฬาร" ของ บจ.กระเบื้องโอฬาร ในจำนวนนี้ คอนวูด ในเครือ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง เป็นผู้ผลิตที่ไม่ได้ใช้แร่ใยหินเป็นส่วนผสมตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ ขณะที่เอสซีจีและกลุ่มมหพันธ์ปัจจุบันได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้วทุกผลิตภัณฑ์ ส่วนผู้ผลิตที่ยังใช้แร่ใยหินอยู่มี 2 ราย คือ บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชรปัจจุบันมีผลิตสินค้าทั้งที่มีแร่ใยหินและไม่มีแร่ใยหิน กับ บจ.กระเบื้องโอฬารผลิตสินค้ายังผลิตกระเบื้องหลังคาที่มีส่วนผสมแร่ใยหินเป็นหลัก
ที่มา: http://www.prachachat.net
- 49 views