กระทรวงแรงงาน ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ เผยความคืบหน้าเพิ่มทางเลือกใหม่ผู้ประกันตน ม. 40 เลือกรับ"บำเหน็จ" หรือ"บำนาญ" หลัง 60 ปี พร้อมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ ดึงแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน เข้าถึงหลักประกันสังคมที่เท่าเทียม บูรณาการร่วม 9 กระทรวงตั้งศูนย์บริหารแรงงานนอกระบบส่วนกลางและภูมิภาค สนองตอบนโยบายรัฐบาล
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในขณะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ (คนช.) ณ ห้องประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีแนวคิดขยายความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ประกันสังคมมาตรา 40 ให้แก่แรงงานนอกระบบ โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์มากขึ้น โดยมี 3 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินทดแทนกรณี ขาดรายได้ 3 กรณี ทั้งเจ็บป่วยเสียชีวิต และทุพพลภาพ ทางเลือกที่ 2 กรณีชราภาพให้ได้รับบำเหน็จ และทางเลือกที่ 3 ประชาชนจ่ายสบทบ 100 บาทต่อเดือน รัฐบาลสมทบ 100 บาทต่อเดือน แต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท ทั้งนี้จะนำเงินดังกล่าวไปคำนวณเป็นเงินเพื่อให้เลือกรับเป็น บำเหน็จหรือบำนาญก็ได้เมื่ออายุครบ 60 ปี โดยประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้วสามารถเลือกทางเลือกที่ 3 ได้เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สำหรับความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวหลังจากนี้จะนำรายละเอียดเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมเพื่อพิจารณาและนำร่างฉบับนี้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพื่อกำหนดความเหมาะสมที่ดีที่สุดแก่ประชาชน จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไปจึงจะมีผลบังคับใช้ภายใน 45 วัน
ด้าน นายปกรณ์ อมรชีวิน รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการสนับสนุนการให้สัตยาบัญอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง ขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานโดยสำนักแรงงานสัมพันธ์ ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นในด้านกฎหมายเรื่องการรวมกลุ่ม การรักษาสิทธิ การเรียกร้อง เพื่อนำข้อสรุปเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป สำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2555 -2559 จะต้องนำมติที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 เป็นกรอบในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ให้แรงงานนอกระบบทั่วประเทศกว่า 24 ล้านคนสามารถเข้าถึงหลักประกันความมั่นคงทางสังคมที่เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบจังหวัด เพื่อนำร่องขับเคลื่อนแผนฯ ลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ 15 จังหวัด โดยในปี 2555 จำนวน 10 จังหวัด คือเชียงใหม่ น่าน ลำพูน พะเยา เชียงราย ราชบุรี ขอนแก่น สงขลา สมุทรปราการส่วนกรุงเทพมหานครมีความแตกต่างด้านบริบทการปกครองที่ประชุมจึงกำหนดให้อยู่ภายใต้การดำเนินการของคณะอนุกรรมการประสานแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบที่จัดตั้งขึ้นในส่วนกลาง และอีก 5 จังหวัด คือ นครปฐม มหาสารคาม อุบลราชธานี พัทลุง และกระบี่ ได้ดำเนินการในปี 2556 และในอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น อย่างไรก็ตามศูนย์บริหารจัดการแรงงานนอกระบบจังหวัด มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ งบประมาณ แก้ไขปัญหา เสนอแนะต่อ (คนช.) และกำกับติดตามการดำเนินงานด้านแรงงานนอกระบบของจังหวัด
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย วันที่ 2 กรกฎาคม 2556
- 5 views