นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นในการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐให้ทันภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ อาจมีปัญหาหลังจาก สปสช.ยื่นข้อเสนอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) อุดหนุนงบประมาณ 7,500 ล้านบาท ตามเงื่อนไขเดิมที่กำหนดในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 13 องค์กรผู้บริหารและข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง สปสช.ได้รับจัดสรรงบประมาณเพียง 4,061 ล้านบาท ทราบว่าในการประชุมล่าสุด ตัวแทน สปสช.ผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวเสนอให้อุดหนุนงบเต็ม 7,500 ล้านบาท
"เรื่องนี้เป็นข้อห่วงใยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เกรงว่างบที่ได้รับจัดสรร 4,061 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอกับการรักษาพยาบาลของ อปท.ทั่วประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 700 ล้านบาท ในอนาคตการสำรองจ่ายอาจกระทบงบประมาณของ สปสช.ที่มีอย่างจำกัด แต่ทราบว่านายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการการเงินการคลังฯ ของคณะกรรมการกระจายอำนาจจะนำปัญหานี้เข้าหารือในคณะกรรมการกระจายอำนาจฯอีกครั้ง" นพ.วินัยกล่าว
นายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สถ.เชิญตัวแทนสมาคมผู้บริหารและข้าราชการท้องถิ่น 13 องค์กรที่ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ร่วมประชุมที่ สถ.ในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้
"เจตนารมณ์ของ 13 องค์กรเครือข่ายต้องการให้มีกองทุน ส่วนปัญหาด้านงบประมาณควรเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหาร สปสช.และ สถ.ต้องร่วมกันเจรจาเพื่อหาทางออกในการจัดตั้งกองทุนให้เป็นรูปธรรม มีความชัดเจนตามอำนาจหน้าที่ และที่สำคัญ 13 องค์กรที่จะเข้าร่วมประชุมไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ เพราะก่อนหน้านี้เลขาธิการ สปสช.ที่เข้ามารับผิดชอบยืนยันว่าพร้อมสำรองในการเบิกจ่ายหลังรัฐบาลอุดหนุนงบให้ 4,061 ล้านบาท แต่ภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโดยให้รองเลขาธิการมารับผิดชอบก็อ้างว่าการสำรองจ่ายอาจมีความเสี่ยงกระทบกับงบ สปสช." นายเชื้อกล่าว
--มติชน ฉบับวันที่ 2 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 2 views