นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการและพนักงานจ้างท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการแก้ปัญหาและช่วยเหลือข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นในการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐให้ทันภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ อาจมีปัญหา หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยื่นข้อเสนอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) อุดหนุนงบประมาณ 7,500 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเงื่อนไขเดิมที่กำหนดไว้ในการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล
"ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกระจายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีมติให้จัดสรรงบอุดหนุนทั่วไปในปีงบประมาณ 2557 จำนวน 3,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุน สปสช. และจัดสรรงบประมาณที่ อปท.สมทบอีก 460 ล้านบาท รวม 4,061 ล้านบาท ซึ่งผู้บริหาร สปสช.ยืนยันว่าไม่เพียงพอกับการดำเนินการ หลังมีการจัดตั้ง กองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาข้าราชการส่วนท้องถิ่นเข้าถึงสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกับข้าราชการพลเรือน สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งมีการจัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นทั่วประเทศรายละ 9,900 บาท ขณะที่ข้าราชการพลเรือนสามัญมีการจัดสรรงบต่อหัวกว่า 12,000 บาท" นายพิพัฒน์กล่าว และว่า ล่าสุด สถ.เชิญตัวแทนสมาคมผู้บริหารและข้าราชการท้องถิ่น 13 องค์กรที่ร่วมลงนามเอ็มโอยู มาร่วมประชุมที่ สถ.ในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหา หลังจาก สปสช.ยื่นเงื่อนไขของบที่กำหนดตามเงื่อนไขเอ็มโอยู ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สปสช.ยืนยันว่าจะตั้งกองทุนไปก่อนตามงบประมาณที่ได้รับ
ทั้งนี้ ในการจัดตั้งกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการส่วนท้องถิ่นดังกล่าว สถ.ระบุว่าได้ตั้งงบประมาณจัดตั้งกองทุนเบื้องต้น 7,500 ล้านบาทโอนไปให้ สปสช.จัดเป็นกองทุน เพื่อดูแลข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำและครอบครัว สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง เทศบาล 1,900 แห่ง และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,693 แห่ง รวม 537,692 คน เฉลี่ยประมาณรายละ 12,000 บาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 28 มิถุนายน 2556
- 1 view