27 มิ.ย.56 รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม หน่วยประชาสัมพันธ์ภายนอก งานประชาสัมพันธ์และกิจการพิเศษ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จะจัดแถลงข่าวศิริราชจับมือกรมวิทย์ครั้งแรกของไทย วิจัยใช้สเต็มเซลล์ในผู้ป่วยจอตาเสื่อมชนิด RP หวังผลการรักษาในอนาคต ในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน นี้ เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 2 โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล นพ.นิพนธ์ โพธิพัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานการแถลงข่าว นพ.สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รศ.พญ.จุฑาไล ตันฑเทอดธรรม หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาสเต็มเซลล์ ภาควิชาจักษุวิทยา ร่วมแถลงข่าว
โรคจอตาเสื่อมชนิด RP เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยการดำเนินของโรคจะค่อยๆ ทำลายจอตาอย่างช้าๆ จนตาบอดในที่สุด พบได้ทั้งหญิงและชายตั้งแต่แรกเกิด อุบัติการณ์ของโรค 1 ต่อ 3,000 คน ซึ่งโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงถึงการเสื่อมสภาพของเซลล์รับแสงของจอตา ที่เรียกว่า Rod และ Cone ซึ่งเป็นเซลล์ที่อยู่ชั้นล่างสุดของจอตา โดยหลักการมองเห็นนั้น Rod cells เป็นเซลล์ที่อยู่รอบนอกของจอตา ช่วยให้เห็นภาพโดยรอบและในที่แสงน้อยหรือในที่มืด ส่วน Cone cells เป็นเซลล์ที่กระจุกอยู่ส่วนกลางของการมองเห็น ในบริเวณส่วนกลางของจอตา ช่วยให้เห็นรายละเอียดและแสงสีของสิ่งที่จ้องมอง เซลล์ทั้งสองทำหน้าที่เปลี่ยนแสง (ภาพ) ที่รับเข้ามา ให้เป็นคลื่นไฟฟ้า แล้วส่งผ่านเซลล์ในชั้นต่างๆ ของจอตา ไปยังเซลล์ปมประสาทที่อยู่ชั้นบนสุด เพื่อปรับคลื่นสัญญาณก่อนที่จะส่งต่อทางใยประสาทตาไปยังสมอง เพื่อประมวลการมองเห็นทั้งหมด
โรคนี้มักแสดงอาการในช่วงวัยทำงานหรือวัยเล่าเรียนศึกษา เริ่มด้วย การปรับสายตาต้องใช้เวลานาน เมื่อเคลื่อนไหวจากที่สว่างไปยังที่ที่มีแสงสว่างน้อยกว่า จากนั้นการมองเห็นจะค่อยๆ แคบลงๆ บางรายอาจเห็นแสงวาบคล้ายแสงฟ้าแลบ และในระยะท้าย เซลล์ประสาทส่วนที่สำคัญ (Cone cells) จะมองเห็นสีผิดเพี้ยนหรือจืดจางลงและจะสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต
ที่มา: http://www.naewna.com
- 33 views