นางเคธรีน เซเบเลียส (Kathleen Sebelius) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา
สมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 66 เผยทั่วโลกหนุนหลักประกันสุขภาพช่วยประชาชนไม่ล้มละลาย สหรัฐอเมริกาประกาศเป็นผู้นำและสนับสนุนทุกประเทศมีหลักประกันสุขภาพลดความยากจน ขณะที่ประเทศไทยหารืออาเซียนพร้อมเป็นต้นแบบผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเอเชีย
รายงานข่าวจากที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 66 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ผ่านมา พญ.มากาเร็ต ชาน ผู้อานวยการองค์การอนามัยโลก ได้กล่าวถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างมากที่ผู้นำประเทศต่างๆ ร่วมกันผลักดันประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าสู่การหารือในสหประชาชาติ และในฐานะผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก พร้อมสนับสนุนทุกประเทศ ในด้านวิชาการและการสร้างเวทีหารือต่างๆ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ในการทำให้ประชาชนทั่วโลกไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วยและเข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ
นางเคธรีน เซเบเลียส (Kathleen Sebelius) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวปาฐกถาว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดของระบบสุขภาพทั่วโลก โดยการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ทุกคนต้องได้รับ โดยยกคำกล่าวของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ที่ว่า “สิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพมิใช่เป็นเพียงสิทธิของคนบางคน แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคน” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะล้มละลายจากการเจ็บป่วย ลดความยากจนและสหรัฐพร้อมจะเป็นทั้งผู้นำและสนับสนุนให้ทุกประเทศทั่วโลกจัดให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนของตนเอง เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะต้องร่วมกันกำจัดอุปสรรคของการเข้าถึงบริการในกลุ่มคนด้อยโอกาสและผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล
ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมในเวทีดังกล่าว ระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีโอกาสสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหารือร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียนในการผลักดันงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผ่านกลไก ASEAN + 3 ซึ่งทาง สปสช. มีแผนการดำเนินงานอยู่แล้ว ทั้งยังได้หารือร่วมกับประเทศต่างๆ ในประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น ซูดาน บังคลาเทศ เป็นต้น ซึ่งประเทศต่างๆ ให้ความสนใจในการเรียนรู้ระบบหลักประกันของประเทศไทย นอกจากนั้นในปัจจุบัน สปสช. ได้ให้การสนับสนุนการเป็นวิทยากร การเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้กับประเทศต่างๆที่ต้องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพเช่น เวียดนาม มัลดีฟส์ และอีกหลายประเทศจากทุกมุมโลก
“จากผลการประชุมครั้งนี้ พบว่าประเทศต่างๆ มีเป้าหมายในการทำให้ประชาชนในประเทศมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดิมไม่เคยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนก็ให้ความสนใจและพร้อมจะสนับสนุนทุกประเทศ ทาให้ขณะนี้มีประเทศต่างๆ ขอความร่วมมือประเทศไทย ในการศึกษาดูงานและขอคำแนะนำ ดังนั้น สปสช. จึงต้องเตรียมความพร้อมในการเป็นที่ศึกษาดูงานให้เข้มข้นขึ้น และเตรียมความพร้อมในการเป็นตัวกลางในการสนับสนุนให้คำแนะนำประเทศต่างๆในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป”เลขาธิการสปสช. กล่าว
- 2 views