สพฉ.เผยคนไทยเครียด พบสถิติผู้ป่วยคลุ้มคลั่งจำนวนมาก ปี 55-56 ออกช่วยเหลือผู้ป่วยคลุ้มคลั่งกว่า 19,240 ครั้ง เหตุปัญหารุมเร้า เศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว ทำให้คนเป็นโรคจิตเพิ่ม
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เปิดเผยสถิติการออกปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2555 พบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับการช่วยเหลือจากอาการคลุ้มคลั่ง ภาวะทางจิตประสาทและอารมณ์ 11,652 ครั้ง และในปี 2556 นี้ 7,588 (ตัวเลขตั้งแต่ ต.ค.55-มิ.ย.56) ดังนั้น หากพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุสามารถโทร.แจ้งได้ที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
รายงานของ สพฉ.ยังระบุอีกว่า ด้วยสภาวะสังคมปัจจุบันมีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ก่อให้เกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม หรือแม้กระทั่งปัญหาครอบครัว ส่งผลให้มีคนไทยจำนวนมากที่ไม่สามารถแบกรับกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ทำให้ป่วยเป็นโรคจิตเพิ่มมากขึ้น โดยจากสถิติของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคจิตที่เข้ามารับการรักษามีจำนวนกว่า 1,076,155 คน
ทั้งนี้ ลักษณะของการป่วยโรคจิตมีหลายประเภท แต่ประเภทที่น่าเป็นห่วงคือโรคจิตที่จะทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ทำร่างกายตนเองและทำร้ายร่างกายผู้อื่น ได้แก่ โรคจิตชนิดซึมเศร้า โดยคนที่เป็นโรคจิตชนิดนี้จะมีอาการเฉื่อยชา ไม่ดูแลตนเอง เบื่ออาหาร คิดมาก วิตกกังวล บางคนก็ร้องไห้ตลอดเวลา และบางคนอาจตัดสินใจถึงขั้นฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังมีอาการโรคจิตที่เกิดจากสารเสพติดที่ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน เพ้อ คลุ้มคลั่ง ก้าวร้าว ควบคุมตนเองไม่ได้ ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น โดยผู้ป่วยโรคจิตทั้งสองกลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้มากที่สุด
โดยล่าสุดได้มีกรณีผู้ป่วยโรคจิตจากสารเสพติดคลุ้มคลั่งที่ จ.ขอนแก่น และใช้มีดจี้คอตัวเองจนถูกหลอดลมด้านหน้า ส่งผลให้หายใจลำบาก ซึ่งหน่วยกู้ชีพจำเป็นต้องเข้าให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากกรณีนี้ สพฉ.จึงเล็งเห็นว่าระบบการแพทย์ฉุกเฉินควรรองรับกับผู้ป่วยฉุกเฉินในทุกประเภท และประชาชนทั่วไปควรจะมีความรู้หากพบเห็นผู้ป่วยโรคจิตจากอาการดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ประสบเหตุและต่อผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ประชาชนทั่วไปควรสังเกตผู้ใกล้ชิดมีความเสี่ยงต่ออาการโรคจิตหรือไม่ โดยอาการในเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคจิตจะมีอาการซึมเศร้า เก็บตัว จากที่เคยเรียบร้อยก็จะกลายเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรงจนน่ากลัว ไม่ชอบอาบน้ำ สะสมขยะ พูดจาหรือหัวเราะอยู่คนเดียว ซึ่งหากพบเห็นควรรีบพาไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาและบำบัด เพื่อลดอัตราการเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จริงๆ แล้วข้อมูลไม่พบรายงานว่ามีผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้น ในทางกลับกันซึมเศร้าพบลดลงนิดหน่อยเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้วซึ่งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึมเศร้ากับฆ่าตัวตายสูงมาก แต่ตอนนี้เริ่มนิ่ง อย่างอัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 5:1 แสนประชากร จากเดิม 10:1 แสนประชากร แต่ถ้าพูดถึงความเครียดที่ไม่ถึงกับเป็นโรคคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะว่าความเครียดก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การไม่มีความเครียดเลยอาจจะเป็นปัญหาด้วยซ้ำ แสดงว่าเราไม่มีความใฝ่ฝัน ไม่มีความคิดอยากได้อะไรแล้ว อย่างไรก็ตาม สถิติที่ทาง สพฉ.กล่าวมานั้นอาจจะเป็นเพราะการเข้าถึงการช่วยเหลือของผู้ป่วยมากกว่า สะท้อนถึงการเกิดโรคและการรักษาที่ดีด้วย และต้องชื่นชม สพฉ.ที่มีกระบวนการเข้าถึงตัวผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ.
ที่มา: http://www.thaipost.net
- 102 views