กระทรวงสาธารณสุข ออกมาตรการเฝ้าระวังไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หลังองค์การอนามัยโลกพบผู้ป่วย 64 ราย เสียชีวิต 38 รายใน 9 ประเทศ ชี้มีหลักฐานติดคนสู่คน
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS CoV) ว่า องค์การอนามัยโลกรายงานล่าสุดในวันที่ 17 มิถุนายน พบผู้ป่วยยืนยัน 64 ราย เสียชีวิต 38 ราย ใน 9 ประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในตะวันออก กลาง ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ตูนิเซีย และอิตาลี คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้น และให้ทุกประเทศจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีหลักฐานว่าสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ แม้จะไม่รวดเร็วเหมือนโรคซาร์ส แต่ขณะนี้ ยังไม่ทราบแหล่งโรคที่ชัดเจน มาตรการสำคัญที่สุดในขณะนี้คือการป้องกันและการเฝ้าระวัง เพื่อจับสัญญาณค้นหาโรคได้รวดเร็วที่สุด รวมทั้งการ เตรียมความพร้อมในสถานพยาบาล
"แม้ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยก็ตาม สธ.ได้เตรียมความพร้อมรับมือโรคนี้ไว้แล้ว โดยให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังในกลุ่ม ผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะโรคปอดบวมปอดอักเสบ และให้เน้นหนักในจังหวัดใหญ่ที่มีชาวต่างชาตินิยมเข้ามาท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และขอนแก่น และเตรียมความพร้อมระบบการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์ 14 ศูนย์ทั่วประเทศให้สามารถตรวจหาเชื้อได้อย่างแม่นยำรวดเร็ว" นพ.ประดิษฐกล่าว และว่า ได้มอบให้กรมการแพทย์ จัดทำแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อและการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในสถานบริการ เป็นแนว ปฏิบัติแก่แพทย์และทีมบุคลากรในโรงพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.ได้จัดระบบเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.ผู้ที่ไปแสวงบุญที่ประเทศซาอุดีอาระเบียในช่วงการประกอบพิธีฮัจญ์ในเดือนกันยายน-ตุลาคมปีนี้ จำนวน 13,000 คนซึ่งได้มอบให้สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เป็นแกนในการประสานตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและไข้กาฬหลังแอ่นให้ ทุกคน พร้อมจัดทำทะเบียนรายชื่อ พร้อมที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อให้มิสเตอร์ฮัจญ์ใน 53 จังหวัดติดตามอาการหลังกลับจากการแสวงบุญ เป็นเวลา 1 เดือน 2.กลุ่มผู้เดินทางกลับจากทำงาน ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และ 3.นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางผ่านกลุ่มประเทศ ตะวันออกกลาง โดยได้จัดทำบัตรแนะนำ สุขภาพ (Health Advisory) เป็นภาษาไทย อังกฤษ และอารบิก แจกแก่ผู้ที่เดินทางขาเข้าประเทศ ไทย ให้ความรู้ในการสังเกตอาการ หากป่วยให้พบ แพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 24 มิถุนายน 2556
- 1 view