เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 21 จัดโดยกรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับมูลนิธิวิทยาศาสตร์ การแพทย์ มีการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "การประเมินความเสี่ยงจากโบรเมตในน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแร่ธรรมชาติ" ผู้เขียนเห็นว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจจึงได้พูดคุยกับผู้วิจัย คือ น.ส. ทิพวรรณ นิ่งน้อย รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาหาร สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และคณะ มานำเสนอให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน
น.ส.ทิพวรรณ กล่าวว่า "โบรเมต" เป็นสารก่อกลายพันธุ์และอาจก่อมะเร็งใน คน ในน้ำดื่มอาจพบโบรเมตได้โดยเกิดจากกระบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยโอโซน องค์การอนามัยโลกกำหนดให้มีโบรเมตในน้ำดื่มได้ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สาธารณะได้ตระหนักถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพจากโบรเมตในน้ำดื่ม โดยได้พัฒนาวิธีวิเคราะห์โบรเมตในน้ำดื่มด้วยเทคนิคไอออนโครมาโตกราฟ สำรวจ ปริมาณโบรเมตในน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแร่ธรรมชาติ และประเมินความเสี่ยงจากโบรเมตในน้ำ
ในปัจจุบันน้ำดื่มบรรจุขวดมีเยอะมาก มีการฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต และผ่านโอโซน เนื่องจากการใช้คลอรีนฆ่าเชื้อยังมีกลิ่นคลอรีนอยู่ แต่การฆ่าเชื้อด้วยโอโซนจะไม่มีกลิ่น ก็เลยเป็นที่นิยม แต่การใช้โอโซนอาจไปทำปฏิกิริยากับสารโบร ไมด์ กลายเป็น "โบรเมต" ซึ่งในแหล่งน้ำธรรมชาติมีสารโบรไมด์อยู่แล้ว แต่ละแหล่งอาจ มีไม่เท่ากัน
บ้านเรายังไม่มีการกำหนดค่าโบรเมตในน้ำดื่มที่มีการใช้โอโซน แต่องค์การอนามัยโลก หรืออเมริกากำหนดแล้ว และอีกหลายประเทศที่กำหนดค่าโบรเมต พอไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน ก็ไม่มีการควบคุม คือ หวังผลอย่างเดียวว่าฆ่าเชื้อโรคปลอดภัย ก็ใช้ ๆ ไป ไม่มีการศึกษาว่ามันทำให้เกิดโบรเมตขึ้นมาสักเท่าไหร่ ด้วยความรู้ตรงนี้เราจึงศึกษาว่าน่าจะต้องมีการกำหนดค่าโบรเมต จึงเป็นที่มาของการเก็บตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวด 100 ตัวอย่าง และน้ำแร่ 54 ตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า น้ำดื่มบรรจุขวด 20 ตัวอย่าง มีโบรเมตอยู่ในช่วงน้อยกว่า 3-177 หรือค่าเฉลี่ยของสารโบรเมตอยู่ที่ 14.9 ไมโครกรัมต่อลิตร และน้ำแร่ 21 ตัวอย่าง มีโบรเมตอยู่ในช่วงน้อยกว่า 3-133 หรือมีค่า เฉลี่ยโบรเมตอยู่ที่ 20.5 ไมโครกรัมต่อลิตร สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 14 และ 12 เท่าตามลำดับ
สำหรับการประเมินความเสี่ยงต่อการ เกิดมะเร็งนั้น สมมุติว่ามีการดื่มน้ำดื่มยี่ห้อ หนึ่งเป็นประจำ แล้วเกิดมีสารโบรเมตปริมาณ เท่าไหร่ก็ไม่รู้ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเมื่ออายุ 70 ปี หมายความว่าในคนที่ดื่มน้ำที่มีสารโบรเมต 7 ใน 1 แสนคนจะเป็นมะเร็งเมื่ออายุ 70 ปี คือเวลาพูดถึงความเสี่ยงที่ จะเป็นมะเร็งคนอาจจะมองว่าไม่เยอะ พอจะยอมรับได้บ้าง แต่เมื่อใดก็ตามถ้าดื่มน้ำที่มีค่าโบรเมตปริมาณมากความเสี่ยงก็มากขึ้นด้วย คือแทนที่จะเป็น 7 ใน 1 แสนคนอาจเป็น 1 ใน 1 หมื่นคน เป็นต้น
ข้อแนะนำ คือ อย่ายึดติดว่าต้องดื่มน้ำยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง ควรดื่มน้ำหลากหลายยี่ห้อ เหมือนกับการรับประทานอาหารก็ควรรับประทานให้หลากหลายชนิด ตอนนี้เราพยายามสื่อสารเรื่องนี้ออกไป อันดับแรกที่จะช่วยได้ คือ ถ้าผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดหรือน้ำแร่ธรรมชาติมีความรับผิดชอบ อาจจะมีการตรวจวัดคุณภาพสารโบรเมตในน้ำดื่ม เพราะคนทั่วไปไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า และคาดว่าผลของผลงานวิจัยนี้จะทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการกำหนดค่ามาตรฐานสำหรับโบรเมตในน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแร่ธรรมชาติเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยต่อไป
กรณีน้ำแร่สมัยก่อนบ้านเราไม่ได้ผลิต เพิ่งผลิตเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง โดยมีน้ำแร่จากต่างประเทศเข้ามาแต่ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา ความ จริงตามหลักสากลน้ำแร่ธรรมชาติเขาไม่ให้ฆ่า เชื้อ เพราะน้ำแร่ธรรมชาติที่ใช้ดื่มมันต้องสะอาดโดยตัวของมันเองเพราะเป็นน้ำใต้ดิน ดังนั้น จะบอกว่าฆ่าเชื้อโรคด้วยโอโซน ด้วยนั่นด้วยนี่ ไม่ได้ แต่อนุญาตให้ใช้โอโซนได้บ้าง คือ เนื่อง จากน้ำแร่เป็นน้ำใต้ดิน สารบางตัวอย่าง เช่น เหล็ก เวลาอยู่ในใต้ดินสภาพละลายน้ำ แต่ พอดึงขึ้นมาถูกอากาศมันจะเปลี่ยนเป็นแบบไม่ละลายน้ำ ก็จะตกตะกอน มีสีเหลือง ก็มี การอนุญาตให้กำจัด ให้กรองสารพวกนี้ แต่โอโซนจะทำปฏิกิริยาเร็วขึ้น จึงให้ใช้ได้บ้าง นิดหน่อย
อย่างไรก็ตามการใช้โอโซนไม่ใช่ไม่ดี มันก็ดีเพียงแต่ว่าต้องมีการควบคุม ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์น้ำดื่มบรรจุขวด 100 ตัวอย่าง เจอโบรเมตเพียง 20 ตัวอย่าง แสดงว่าอีก 80 ตัวอย่างก็ใช้ได้ เพราะไม่ได้ใช้โอโซนในกระบวนการฆ่าเชื้อ อาจฆ่าเชื้อด้วยวิธีอื่น เช่น แสงอัลตราไวโอเลต.
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 620 views