ระหว่างต้องใช้ชีวิตลุ้นฟ้าฝนพายุกันอีกหลายเดือน บางวันอาจต้องเดินฝ่าสายฝน บางวันอาจต้องลุยน้ำขัง โอกาสเชื้อโรคเชื้อรามาเยือนสูง ดังนั้นเรามาเตรียมป้องกัน ดูแลตัวเองให้พ้นโรคผิวหนังหน้าฝนกันค่ะ
เมื่อกล่าวถึงโรคทางผิวหนังในหน้าฝน เชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึงเรื่องของการลุยน้ำ ซึ่งการเดินลุยน้ำนี่แหละทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ อย่าง ตามง่ามนิ้วเท้า เพราะสิ่งสกปรกอาจจะถูกเก็บกักอยู่รองเท้า สายรองเท้า ดังนั้น ก็จะทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบในลักษณะของการระคายเคือง หรือการเกิดอุบัติเหตุ อาทิ ถ้าท่านผู้อ่านเดินลุยน้ำท่วม แล้วมองไม่เห็นพื้นถนน ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บจากการเดินเหยียบของมีคม มีสิทธิ์ติดเชื้อแบคทีเรีย(Bacteria) หรือการติดเชื้อโรคอย่างอื่นได้
กรณีโดนฝนบ่อย เปียกน้ำบ่อย คือ ไม่มีร่ม แล้วตัวท่านผู้อ่านเปียก เสื้อผ้าเปียก ประกอบกับไม่มีเสื้อผ้าแห้งเปลี่ยน ทำให้ต้องใส่เสื้อเปืยกๆ เป็นเวลานาน ก็อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อราที่ผิวหนังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเกลื้อน
ผื่นคันเรื้อรัง หาหมอชัวร์กว่า
บางคนลุยน้ำแล้วเกิดผื่นคัน ทายาแก้คันก็ไม่หาย แนะนำให้มาพบแพทย์ดีกว่าค่ะ
"ถ้ามีผื่นขึ้น แล้วมีอาการคันหรือมีอาการเจ็บ อีกทั้งดูแล้วว่าผื่นลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ แนะนำว่าให้มาพบแพทย์จะดีกว่า เพราะว่าเราก็จะต้องมาแยกโรคด้วยว่า มันเป็นเรื่องของผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง จากที่เราลุยน้ำ หรือว่าเป็นเรื่องการติดเชื้อรา หรือติดเชื้อแบททีเรีย ซึ่งการรักษาก็จะไปกันคนละฝั่ง" พญ.พู่กลิ่น ตรีสุโกศล หัวหน้ากลุ่มงานผื่นแพ้สัมผัส และอาชีวเวชศาสตร์ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า
"เพราะฉะนั้น ถ้าไม่แน่ใจ เราไปซื้อยาทาแล้วไม่หาย เช่น บางท่านอาจจะบอกว่า มันไม่ได้เป็นมากมายลองซื้อยาทาดูก่อน อันนั้นก็สามารถทำได้ แต่หากทายาไปแล้ว 3-4 วัน ดูไม่ดีขึ้น ผื่นไม่ดีขึ้น แนะนำว่า มาให้ คุณหมอดูดีกว่า
แต่หากผื่นไม่ได้รุนแรกมาก ผื่นนั้นก็อาจจะหายได้เอง ซึ่งอาจจะเป็นระยะเวลา 7-10 วัน หรือบางคนอาจจะ 2 สัปดาห์ แบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่ในบางรายที่มีปัญหาโรคผิวหนังอยู่ก่อนแล้ว การระคายเคืองนี้ก็อาจจะทำให้โรคผิวหนังที่มีอยู่เดิมเป็นมากขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง เมื่อมาเป็นผื่นระคายเคืองอีก ก็อาจจะทำให้โรคผิวหนังที่มีอยู่นั้นเป็นมากขึ้นได้
รองเท้าพร้อมลุยน้ำ ลดความเสี่ยงโรคผิวหนัง
"รองเท้า" ถือเป็นของใช้ใกล้ตัว ที่ต้องระวังให้มากในหน้าฝน เพราะหากดูแลไม่ดี เลือกไม่เหมาะ รองเท้าคู่โปรดก็อาจนำโรคภัยมาถึงได้
"ในช่วงหน้าฝน แนะนำให้ใส่เป็นรองเท้าที่เปียกน้ำได้ ก็จะใส่สบาย คล่องตัว แต่บางท่านอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของรูปแบบดีไซน์ หรือความสุภาพในการทำงาน แต่ถ้าจะแนะนำก็คือ ควรใส่เป็นรองเท้าที่เปียกน้ำได้เราก็จะสามารถทำความสะอาดได้ง่าย ผึ่งได้ง่าย แห้งได้ง่าย" พญ.พู่กลิ่น แนะนำอีกว่า
"อีกสิ่งที่อยากแนะนำก็คือ หากรองเท้าเปียกน้ำ ก็ควรจะต้องมีการเอารองเท้านั้นไปผึ่งแดด หรือไปตากแดดให้แห้ง แล้วก็ไม่ควรจะใส่ซ้ำกัน ต่อเนื่องติดๆ กัน "เช่นวันนี้ลุยน้ำมา รองเท้าเปียก และพรุ่งนี้ก็ยังใส่คู่นี้อยู่ มันก็จะเหมือนเป็นการทำให้เท้ามีความชื้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่กระทำเยี่ยงนั้น แต่ควรนำรองเท้าที่เปียกชื้นไปผึ่งแดด ให้แห้งเสียก่อน โดยสลับเอาคู่อื่นมาใส่ก่อน หรือว่าในระหว่างวัน หากรองเท้าเปียก แล้วไม่สามารถที่จะทำให้ให้แห้งได้ ณ เวลานั้น ก็สามารถบรรเทาความชื้นในรองเท้าได้ ด้วยการใช้กระดาษทิชชู่ซับให้แห้ง
ทาแป้งกันชื้นได้ แต่ต้องพอเหมาะ
หลายคนนิยมทาแป้ง เพราะรู้สึกว่าช่วยป้องกันความชื่นและป้องกันผดผื่น ทว่ามีข้อระวังค่ะ
"หลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการทาแป้งที่เหมาะสม คือ หากเราทาแป้งบางๆ เบาๆ ให้รู้สึกว่าสบาย อันนี้จะไมมีปัญหาแต่บางคนไม่ได้เป็นลักษณะของการทา บองคนใช้วิธีเหมือนโปะ ก็จะกลายเป็นข้อเสียได้ เนื่องจากแป้งเป็นผง พอเหงื่อออกแป้งก็จะดูดเอาเหงื่อ ดูเอาความชื่นที่ออกมาจากผิวหนังไว้ จนกลายเป็นเหมือนว่า เราทำให้ร่างกายมีความชื่นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็อาจจะมีปัญหาตามมาที่หลังได้" พญ.พู่กลิ่น เตือน
พอร่างกายมีความชื่นอยู่ตลอดเวลา ก็อาจจะทำให้มีการติดเชื้อราได้ เพราะเชื่อราชอบความชื้น ก็เกิดโรคผิวหนังตามมมาได้ นอกจากนี้ ยังจะมีเรื่องของกลิ่น เช่น หากทาแป้งที่เท้าเยอะๆ แล้วสวมรองเท้า ภายในรองเท้าเราก็จะมีความแฉะ ซึ่งความแฉะนั้นก็อาจจะไปพาเอาสารเคมี หรือสีที่อยู่ในรองเท้าออกมาปนเปกันไปหมด ก็จะทำให้มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ขึ้นได้--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 มิถุนายน 2556
- 443 views