สปสช.เตรียมเสนอบอร์ดสปสช. เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตั้งเป้าปี 57 เพิ่มยาต้านไวรัสสูตร 3 หลังพบอัตราดื้อยาสูงขึ้น เพิ่มยาลดไขมันในกลุ่มผู้รับยาต้าน และยารักษาไขมันในเลือดผิดปกติ เน้นการรักษาและป้องกัน และตรวจคัดกรองเพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษารวดเร็ว และออกแบบระบบบริการร่วมกับสธ.เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถบริการผู้ติดเชื้อได้มีประสิทธิภาพ
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นครอบคลุมการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ แต่การที่จะให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้อย่างถ้วนหน้าและมีคุณภาพนั้น ต้องมีการจัดระบบบริการ การใช้ระบบการเงินการคลังที่เอื้อต่อโรงพยาบาลที่ให้บริการ และการออกแบบระบบร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ ซึ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์นั้นสามารถเข้าถึงการได้รับยาต้านไวรัสและยาอื่นๆ การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อติดตามการรักษา การให้คำปรึกษาและการตรวจเลือดแบบสมัครใจ การป้องกันการแพร่กระจายโรคจากผู้ป่วย และการส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการพัฒนาระบบบริการด้วย
ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีลงทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 280,469 คน (จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนทุกสิทธิ์ 352,956 คน คิดเป็นร้อยละ 79.5) ในจำนวนนี้รับยาต้านไวรัส 169,792 คน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรับยาต้านยังคงเสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 400 ราย ซึ่งเป็นอัตราคงที่ ต่างจากอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มที่ไม่ได้รับยาต้าน ซึ่งมีอัตราเสียชีวิตสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยในปี 2555 กลุ่มที่ไม่ได้รับยาต้านเสียชีวิตร้อยละ 16.5 ขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาต้านเสียชีวิตร้อยละ 2.4 ข้อมูลตรงนี้สะท้อนว่าการออกแบบระบบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยเน้นการคัดกรองผู้ติดเชื้อรายใหม่และให้ยาต้านไวรัส ช่วยลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนั้น จากการให้บริการยังพบว่าสถานการณ์เชื้อดื้อยายังน่าเป็นห่วงเนื่องจากมีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ได้รับยาต้านไวรัสสูตรที่ 2 ซึ่งบ่งบอกว่าดื้อยาสูตรพื้นฐาน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 11.5 ในปี 2555
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่า จากผลการทำงานที่ผ่านมา แม้จะมีจำนวนผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น แต่ยังมีประเด็นที่ท้าทายที่ยังต้องเดินหน้าต่อไป ทั้งเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการคัดกรองผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าสู่ระบบรักษา การวินิจฉัยและการรักษาเบื้องต้น อัตราการขาดการรักษายังสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ถึงเกณฑ์รับยาต้าน สัดส่วนผู้ใช้ยาสูตร 2 เพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการดื้อยา และอัตราการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในประเทศไทยยังคงสูงในประชากรกลุ่มเสี่ยง
นายแพทย์วินัย กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ สปสช.ได้จัดทำเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานในปี 2557 ซึ่งจะเน้นการบูรณาการงานป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ โดยจะนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งจะมุ่งเน้นการรักษาแต่เนิ่นๆ (Early treatment) ยุทธศาสตร์การใช้ยาต้านไวรัสในประเทศไทย เน้นการรักษาและการป้องกัน (treatment as prevention) นอกจากนั้นจะมีการจัดทำมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อฉบับปรับปรุงใหม่ปี 2557 การเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การทราบผลตรวจในหนึ่งวัน การเพิ่มยาในระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งยาอะโทวาสแตติน (Atorvastatin) สำหรับรักษาไขมันในเลือดผิดปกติในกลุ่มผู้ได้รับยาต้าน ยาอะทาซนาเวียร์ (Atazanavir) สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีไขมันในเลือดสูง และยาดารูนาเวียร์ (Darunavir) เป็นยาต้านไวรัสสูตร 3 สำหรับผู้ติดเชื้อที่ดื้อยา
- 4 views