พุธที่แล้ว ผมบอกทุกท่านว่าปฏิทินเดือน มิ.ย. นี่ช่างไร้สีสัน ไร้วันสำคัญบนปฏิทินเสียเหลือเกิน พุธนี้ผมจึงอยากแนะนำให้รู้จักและจดจำวันสำคัญวันหนึ่ง ตั้งใจจำพร้อมๆ กันนะครับ15 มิ.ย.ของทุกปี เป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน!!!

หลายท่านคงสงสัยว่ากำหนดวันแบบนี้เพื่ออะไรที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 12 เมื่อเดือนก.ค. 2553 ให้เหตุผลว่า เพื่อกระตุ้นเตือนสมาชิกอาเซียนป้องกันโรคไข้เลือดออก

ฟังๆ ดูแล้ว ก็ต้องบอกว่ามีความตั้งใจดี เพราะประชาชนอาเซียนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกรวมกันปีละเป็นหมื่นเป็นแสนแต่หากจะให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน เราน่าจะต้องกลับไปดูเรื่องค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลอาเซียนใช้เพื่อการรักษาพยาบาลคนในประเทศควบคู่กันไปด้วย

รายงานสถิติสุขภาพโลกปี 2013 โดยองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบุถึงสถิติสัดส่วนการใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อการใช้จ่ายทั้งหมดของแต่ละรัฐบาลทั่วโลกข้อมูลล่าสุด ปี 2553 หากเจาะลงไปจะพบว่า ภาครัฐของไทยทุ่มงบด้านสุขภาพคิดเป็น 14.30% สูงสุดในอาเซียน ตามด้วยมาเลเซีย 9.20% และสิงคโปร์ 9% ขณะที่น้อยที่สุดคือ พม่า 1.30%

แต่หากเทียบเป็นการใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดต่อจีดีพีของประเทศอันดับ 1 คือ เวียดนาม 6.80% ตามด้วยกัมพูชา 6% ขณะที่ไทยตกมาอยู่อันดับ 6 ที่ 3.90% ส่วนพม่ารั้งท้ายที่ 2% อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาพรวมของอาเซียนยังค่อนข้างเกาะกลุ่มอยู่ที่ช่วงบวกลบ 4% ของจีดีพี

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร จะพบว่า ที่นั่นใช้จ่ายด้านสุขภาพมากถึง 19.90% และ15.90% ของการใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐ และการใช้จ่ายด้านสุขภาพยังมีสัดส่วนมากถึง 17.60% และ 9.60% ของจีดีพี ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆเช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน

สะท้อนภาพว่าอาเซียนยังใช้งบประมาณด้านสุขภาพน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วมาก

หากมองให้ลึกไปถึงสัดส่วนการใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐต่อประชาชน จะพบอีกว่า รัฐบาลของพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์อินโดนีเซีย ไม่เว้นแม้กระทั่งสิงคโปร์ ยังคงปล่อยให้ภาระการดูแลสุขภาพเป็นของประชาชน แต่ละรัฐบาลใช้จ่ายด้านสุขภาพเพียงไม่ถึง 40% ขณะที่ประชาชนเป็นผู้ใช้จ่ายมากกว่า 60% แน่นอนว่าประเทศพัฒนาแล้ว รัฐเป็นผู้ใช้จ่ายด้านสุขภาพมากกว่าครึ่ง

ยิ่งขยี้ลงไปถึงค่าใช้จ่ายที่รัฐออกด้านสุขภาพต่อคนต่อปี เกือบครึ่งหนึ่งยังใช้จ่ายไม่เกิน 32 เหรียญสหรัฐ และสำหรับพม่าออกเพียงแค่ 2 เหรียญสหรัฐเท่านั้น

การกำหนดวันสำคัญขึ้นมาใหม่เพื่อการรณรงค์เป็นสิ่งที่ดีครับแต่การรณรงค์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดีได้ เพราะเรื่อง"โรคภัย" ป้องกันอย่างเดียว ไม่ได้แปลว่า "ปลอดภัย" รัฐจึงควรเข้ามาใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนมากขึ้นทั้งในเชิง "ปริมาณ" และ"คุณภาพ" ผ่านการป้องกัน ดูแล รักษา และส่งเสริมสุขภาพ หากประชาชนมีสุขภาพดี ท้ายที่สุดก็จะกลับมาเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ

แต่หากยังมุ่งการรณรงค์ต่อไป เราคงจะมีวันสำคัญระดับอาเซียนครบทุกโรคในไม่ช้าครับ

 ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 มิถุนายน 2556