เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ได้ออกแถลงการณ์ในนามของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เรียกร้องให้รัฐบาลและนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. ดำเนินการตามที่ได้มีการเจรจาไว้ และเปิดเผยว่ามีความพยายามในการที่จะกีดกันไม่ให้สหภาพแรงงานอภ.เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล มีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม(สร.อภ.)
เรื่อง ขอทวงถามสัญญาจากผลการเจรจา
สืบเนื่องจากการเจรจาระหว่างเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพอันได้แก่ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชน และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (สร.อภ.) กับรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 4 และ 6 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมานั้น ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงหลายประการ โดยข้อตกลงที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า คือ
1.ให้เร่งรัดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมดำเนินคดีกับ กลุ่มต่างๆ ที่ให้ร้าย บิดเบือนองค์การเภสัชกรรม เช่น กรณีวัตถุดิบยาพาราเซตามอล และการสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก หากไม่เช่นนั้นให้บอร์ดชุดปัจจุบันพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกทั้งคณะ
2.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงขององค์การเภสัชกรรม กรณีการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล แล้วให้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อนายกรัฐมนตรี โดยเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณะเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำงานขององค์การเภสัชกรรม ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมในการสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม(สร.อภ.) เห็นว่า ระยะเวลาได้ล่วงเลยมามากว่าสองสัปดาห์แล้ว โดยที่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนเสมือนกับว่าทาง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะบิดพลิ้วไม่ทำตามข้อตกลงการเจรจา หรือมีเจตนาถ่วงเวลาไม่รักษาสัจจะตามข้อตกลง การถ่วงเวลาดังกล่าวอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อการให้มีเวลาสำหรับการสร้างหลักฐานเท็จหรือจัดการหลักฐานที่มีก่อนที่จะเปิดให้มีการตรวจสอบก็เป็นได้
3.นอกจากนี้ยังมีความพยายามกีดกันตัวแทนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (สร.อภ.) เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงฯ ทั้งๆ ที่เป็นสัญญาประชาคมที่ นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนของนายกรัฐมนตรีรับปากไว้ และยังเป็นคำท้าทายจากรัฐมนตรีว่การกระทรวงสาธารณสุขที่อ้างว่า การตรวจสอบองค์การเภสัชกรรมที่ผ่านมามีความโปร่งใส่ และมีธรรมาภิบาลจึงพร้อมให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมตรวจสอบ
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม(สร.อภ.) ขอยืนยันว่า
4.ขอให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดให้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มต่างๆ ที่ให้ร้าย บิดเบือนองค์การเภสัชกรรมภายในสิ้นเดือนมิถุนายน เพื่อให้กลไกด้านความยุติธรรมเริ่มทำงานได้
5.ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงขององค์การเภสัชกรรม และ กรณีการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล แล้วให้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อนายกรัฐมนตรี และเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณะเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำงานขององค์การเภสัชกรรม ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมในการสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องมีอำนาจในการเรียกดูเอกสารที่เกี่ยวข้อง เรียกพยานบุคคลมาสอบถาม เพื่อให้ข้อเท็จจริงนั้นปรากฏ ทั้งนี้ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นภายในสิ้นเดือนนี้ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (สร.อภ.)ต้องมีส่วนร่วมในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย
สัจจะของผู้ปกครองบ้านเมืองคือหัวใจของธรรมภิบาลในระบบ การดำเนินการพันธะสัญญาในการเจรจานั้นเป็นตัวบ่งชี้วุฒิภาวะและความจริงใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม(สร.อภ.) จึงขอเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตามข้อตกลงในการเจรจาทั้ง 2 ประการให้เกิดเป็นรูปธธรมตามที่เสนอภายในสิ้นเดือนนี้ ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการใดๆ ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (สร.อภ.) และเพื่อนๆในเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพก็ยังมีความพร้อมในการจัดการชุมนุมทวงถามคำตอบและความจริงใจที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรีต่อไป
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม
18 มิถุนายน 2556
- 12 views