'นพ.สมปรารถน์'ผอ.รพ.ยุพราชเชียงของ คว้ารางวัลแพทย์ดีเด่นปี'55 ทำงานโรงพยาบาลชุมชน 22 ปี เป็นคนเดือนตุลาฯ เข้าป่า 8-9 ปี ยอมรับมีจุดยืนร่วมหมอชนบท ชี้พีฟอร์พีทำสมองไหล
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว "ประกาศผลและมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2555" ว่า แพทย์ในชนบทถือเป็นกำลังสำคัญในการทำงานในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งการเสียสละดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงก่อตั้งรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทขึ้นในปี 2516 เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแพทย์ผู้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในชนบท และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการแพทย์และงานส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้า โดยรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำเป็นทุกปี
"ปีนี้คัดเลือกให้ นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย เป็นแพทย์ดีเด่นในชนบทคนที่ 39 ของศิริราช เนื่องจากมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การพิจารณาครบถ้วน และในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ นพ.สมปรารถน์จะแสดงปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ เรื่อง ระบบสุขภาพอำเภอ โซ่ข้อกลางสาธารณสุขไทย ที่โรงพยาบาลศิริราช" ศ.คลินิก นพ.อุดมกล่าว และว่า รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทจะได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 100,000 บาท บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 60,000 บาท และบริษัท เทอรูโม (ประเทศไทย) จำกัด 20,000 บาท
รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2555 กล่าวว่า การคัดเลือกได้พิจารณาจากคุณสมบัติหลายประการ เช่น การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การบริหาร มนุษยสัมพันธ์ ความเสียสละ ความใฝ่รู้ในวิชาการ ทางการแพทย์และสาธารณสุข การบริหาร มนุษยสัมพันธ์ ความเสียสละ ความใฝ่รู้ในวิชาการ ความเป็นผู้นำที่ดี และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในชนบทติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งนี้ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช สำหรับ นพ.สมปรารถน์เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานในชนบทมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว มีความรอบรู้ด้านงานส่งเสริมสุขภาพ งานป้องกันโรค งานรักษาพยาบาล และงานฟื้นฟูสุขภาพ เป็นตัวอย่างของแพทย์ที่สมบูรณ์แบบในการทำงานโรงพยาบาลชุมชน 22 ปี
นพ.สมปรารถน์กล่าวว่า เริ่มทำงานในชนบทตั้งแต่ศึกษาจบ โดยไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลเชียงของ พื้นที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ 900 กม. ในขณะนั้นทุรกันดารมาก เป็นแพทย์รุ่นแรกที่รักษาโรคทั่วไปและโรคเอดส์ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์ จึงทำงานด้านนี้มาตลอด 22 ปี และปัจจุบันเป็นพี่เลี้ยงให้น้องๆ แพทย์ ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยเอดส์เริ่มตั้งแต่ปี 2536 เนื่องจากเป็นช่วงพบผู้ป่วยเอดส์มาก และส่วนใหญ่เจอผลแทรกซ้อน เช่น เชื้อราในสมอง ขณะนั้นมีความคิดว่าการป้องกันโรคดีที่สุด จึงหันมาเน้นการส่งเสริมป้องกันโรค โดยเข้าหาชุมชนให้เข้าใจถึงหลักการป้องกันและอยู่ร่วมกันได้ ประกอบกับยังทำงานร่วมกับมูลนิธิศุภมิตรแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับโครงการรณรงค์เอดส์มาตลอด ทำให้ช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ได้มาก อีกทั้งยังเน้นการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันเป็น 1 ใน 4 โรงพยาบาลนำร่องในการดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุ และในอนาคตจะเป็น 1 ใน 6 โรงพยาบาลในการนำร่องเรื่องนี้
"การทำงานในชนบท ผมจะยึดหลักการให้ โดยคิดว่า ความสุขของเราคือ อะไร จนได้คำตอบว่า การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และการพอเพียง อย่างการได้รับเงินเดือนไม่มาก แต่สามารถอยู่ได้ นอกจากนี้ ยังยึดถือพี่น้องเพื่อนร่วมงาน โดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา จะไม่เน้นทะเลาะ ดุด่าลูกน้อง หรือเผด็จการ แต่เน้นการฟัง เรียกโดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา จะไม่เน้นทะเลาะ ดุด่าลูกน้อง หรือเผด็จการ แต่เน้นการฟัง เรียกว่าฟังอย่างลึกซึ้ง สุดท้ายยึดพระราชดำรัสของพระราชบิดา ให้ถือประโยชน์ของตนเป็นที่สอง และยึดถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง" นพ.สมปรารถน์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า อะไรเป็นแรงจูงใจให้อยู่ในชนบท นพ.สมปรารถน์กล่าวว่า อาจเพราะอยู่ศิริราชมานาน และเป็นคนเดือนตุลาฯที่ร่วมเดินขบวนวันที่ 14 ตุลาฯ และเข้าป่าไปประมาณ 8-9 ปี เมื่อออกมายังรู้สึกว่าสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ และตั้งใจอยากเป็นแพทย์ที่อยู่ในชนบท เพราะในชนบทยังขาดแคลนแพทย์อยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาอยู่ในชนบท แม้ส่วนตัวจะไม่ติดใจเรื่องค่าตอบแทนมากนัก เพราะยึดหลักพอเพียง เห็นได้จากทำงานในชนบทมานาน 22 ปี เป็นผู้อำนวยการในโรงพยาบาลชุมชนควบ 2 แห่ง นานถึง 8 ปี คือ โรงพยาบาลขุนตาล และโรงพยาบาลเชียงของ ได้รับเงินเดือนแห่งเดียวที่โรงพยาบาลเชียงของ แต่ยังอยู่ในพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันหากเทียบกับปัจจุบัน ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างอาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะต้องเข้าใจว่าสำหรับน้องๆ แพทย์ย่อมได้รับผล กระทบ บางคนมีภาระส่งเสียครอบครัว ส่งน้องศึกษาเล่าเรียน ส่งค่าบ้าน ฯลฯ ดังนั้น นโยบายค่าตอบแทนที่เป็นเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจึงมีส่วนสำคัญในการดึงแพทย์ให้อยู่ในพื้นที่ชุมชนอย่างที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฯ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่ามีแพทย์ลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนเพราะเรื่องนี้ด้วย เมื่อถามว่า เห็นด้วยกับการ คัดค้านพีฟอร์พีของหมอชนบทหรือไม่ นพ.สมปรารถน์กล่าวว่า มีจุดยืนเช่นเดียวกับชมรมแพทย์ชนบท และแพทย์ที่ทำงานในชนบททุกคนล้วนมีความเห็นตรงกัน เนื่องจากเดิมทีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายได้รับมาตั้งแต่ปี 2544 และมีการปรับอัตราขึ้นอีกในปี 2551 ซึ่งนโยบายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายมีส่วนช่วยดึงแพทย์ให้ทำงานในชนบทนานขึ้น ส่วนการขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พ้นตำแหน่งนั้น ไม่ขอพูดถึง แต่เห็นว่าพีฟอร์พี อาจไม่เหมาะกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชน
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับรางวัลนี้ถือเป็นรางวัลทรงเกียรติ ซึ่งขอชมเชยศิริราชพยาบาลที่มีการคัดเลือกที่ดี เนื่องจากทุกปีผู้ที่ได้รับรางวัลถือเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญจริง ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล แต่ละคนมีคุณสมบัติพร้อม และส่วนใหญ่เป็นแพทย์จากศิริราชพยาบาล แสดงว่ามีการบ่มเพาะมาดี
"ช่วงที่ผ่านมาที่มีข่าวการคัดค้านพีฟอร์พี จะเห็นว่ามีชื่อแพทย์ศิริราชเข้าร่วมแสดงความเห็นเรื่องนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความรู้สึกของคณบดีศิริราชฯ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ แต่อยากความเห็นเรื่องนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความรู้สึกของคณบดีศิริราชฯ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ แต่อยากให้พิจารณาว่า เรื่องนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่จะส่งผลต่อระบบสุขภาพทั้งประเทศ ผู้รับรางวัลจากศิริราชก็ไม่เคยลืมว่า ตนมีวิจารณญาณในการออกมาปกป้องและสร้างความสุขให้กับประชาชน" นพ.มงคลกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้นัดรับประทานอาหารค่ำร่วมกับ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และนายคณิศ แสงสุพรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางหลักเกณฑ์การจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน (พีฟอร์พี) เพื่อหารือถึงทิศทางนโยบายการ จ่ายค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทุกฝ่ายต้องการให้ได้ข้อยุติร่วมกันโดยเร็วที่สุด แต่ไม่มีผู้ใดยืนยันได้ว่ามีการนัดพบกันที่ใด
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เท่าที่ทราบ การพบปะดังกล่าวเป็นการหารือในหลักการกว้างๆ ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการพีฟอร์พีในวันที่ 18 มิถุนายน ที่ สธ. ซึ่งในการประชุมจะต้องได้ข้อสรุปก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมบุคลากรโรงพยาบาลชุมชนในวันที่ 20 มิถุนายน ที่โรงแรมเซ็นทรา และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ภายในศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ เพราะหากไม่ได้ข้อสรุปเกรงว่าจะเกิดปัญหาและอาจมีการเคลื่อนไหวได้
ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 19 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 30 views