ร.พ.พญาไทชูกลยุทธ์คอนวีเนี่ยน ผุดคลินิกนำร่อง 2 สาขา รัชดาฯ-พุทธมณฑล สาย 2 รับธุรกิจแข่งเดือด มัดใจลูกค้าเก่า-ขยายฐานลูกค้าใหม่ เตรียมเคาะรูปแบบลงทุนขึ้นโรงพยาบาลแห่งใหม่ปีนี้ พร้อมยื่นขอเจซีไอรับคนไข้ต่างชาติ คาดปีนี้ทั้งกลุ่มรายได้เฉียดหมื่นล้าน
นายอิทธิ ทองแตง รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส เครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล กล่าวถึงแผนการลงทุนจากนี้ ว่า มีแผนเปิดให้บริการด้านเฮลท์แคร์ในรูปแบบ "คลินิก" เป็นครั้งแรก เน้นทำเลกรุงเทพฯรอบนอกและปริมณฑล แผนปีนี้ต้องการเปิดให้ได้ 3 สาขา นำร่อง 2 สาขาแรกที่รัชดาฯและพุทธมณฑล สาย 2 เป็นคลินิกรักษาโรคทั่วไป ศูนย์ตรวจสุขภาพ และส่งต่อคนไข้มายังโรงพยาบาลพญาไท 2 และพญาไท 3 ใช้งบฯลงทุนไม่เกินสาขาละ 10 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเช่าตึก) ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ถือเป็นการทดลองตลาดเริ่มจากแบรนด์พญาไทก่อน ส่วนแบรนด์ ร.พ.เปาโลฯมีการศึกษาทำเลบ้างแล้ว การลงทุน ดังกล่าวเป็นการนำบริการเข้าถึงกลุ่ม เป้าหมายมากขึ้น อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ สร้างประสบการณ์การใช้บริการด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าโรงพยาบาล 20% บวกกับพฤติกรรมคนส่วนใหญ่ที่มีอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรงจะเลือกเข้าสถานพยาบาลใกล้บ้าน ถือเป็นการรับมือการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลที่รุนแรงขึ้น
"ทำเลในกรุงเทพฯเทียบจำนวน โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนกับประชากรค่อนข้างเพียงพอ แต่พฤติกรรมคนป่วยเลือกรักษาใกล้บ้าน คลินิกจึงเป็นการเอาบริการและแบรนด์เข้าไปใกล้กับกลุ่มลูกค้า ดูว่ามีลูกค้าอาศัยตรงไหนก็ไปสร้างให้เกิดคอนวีเนี่ยน"
ทั้งนี้ การเปิดคลินิกจะช่วยให้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้น พร้อมกับการศึกษาพฤติกรรมลูกค้าในแถบนั้น อย่างทำเลที่มีผู้หญิงเข้ามาใช้บริการมาก ก็อาจจะมีคลินิกเฉพาะทางผู้หญิง ถ้ามีศักยภาพก็เป็นไปได้ที่จะพัฒนาเป็นโรงพยาบาลในอนาคต
สำหรับการเปิดตัวโรงพยาบาลสาขาใหม่ นายอิทธิกล่าวว่า จะเห็นภายใน 1-2 ปีนี้อย่างแน่นอนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลัก รูปแบบการลงทุนอาจเป็นไปได้ทั้งซื้อกิจการหรือสร้างใหม่ อยู่ระหว่างเจรจาและศึกษาทำเล ส่วนจะใช้แบรนด์พญาไทหรือเปาโลฯคงจะพิจารณาจากการรับรู้แบรนด์และกำลังซื้อของผู้อาศัยใน ย่านนั้น ปัจจุบันกลุ่มพญาไทและเปาโลฯ มีโรงพยาบาลในเครือทั้งสิ้น 8 สาขา
"จะสรุปแผนชัดเจนในปีนี้ ถ้าซื้อกิจการก็คงจะเร็ว คือเปิดให้บริการระหว่างที่มีการปรับปรุง แต่ถ้าสร้างใหม่ต้องใช้เวลา 2 ปี งบฯรวมที่ดินและก่อสร้างราว 500 ล้านบาท"
นายอิทธิกล่าวอีกว่า เป้าหมายต้องการสร้างแบรนด์พญาไทเป็นศูนย์ส่งต่อโรคที่รักษายาก ขณะที่เปาโลฯมีการรับรู้ว่าเป็นแบรนด์ที่มีราคาเหมาะสมและเข้าถึงง่าย ล่าสุดโรงพยาบาลพญาไท 2 ได้เปิดศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับครบวงจร ใช้งบฯลงทุน 60 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการเป็น 840 ตร.ม. จาก 200 ตร.ม. เพิ่มห้องตรวจจาก 4 ห้อง เป็น 8 ห้อง นำเข้าเครื่องไฟโบรสแกน เทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ตรวจภาวะตับแข็ง เพื่อรองรับผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น 10% ทุกปี จากนี้คาดเพิ่มขึ้น 20% ทั้งคนไทยและต่างชาติ
นอกจากนี้ โรงพยาบาลพญาไท 2 และ 3 อยู่ระหว่างยื่นขอรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติหรือเจซีไอ เพื่อรองรับลูกค้า ต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเปิดเออีซี ซึ่งลูกค้าขณะนี้ส่วนใหญ่มาจากพม่าและภูฏาน ที่ผ่านมายังไม่ได้ทำการตลาดอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังร่วมกับคลินิกในพม่าส่งต่อคนไข้เข้ามารักษา คาดว่ารายได้ ต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 10% ในปีนี้ จากเดิมมีสัดส่วน 4-5% สำหรับพญาไทและเปาโลฯมีรายได้รวมกันเกือบ 10,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 30% ของกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ สิ้นปีน่าจะมีรายได้ 10,000 ล้านบาทหรือมากกว่านั้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 - 19 มิ.ย. 2556
- 27 views