ในประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนกว่า 2 ล้านคน และนับเป็น 1 ใน 5 อันดับของโรคที่คุกคามชีวิตและสุขภาพของคนไทยมากที่สุดโรคหนึ่ง ในแต่ละปีมีเท้าของผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องถูกตัดไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากแผลเน่าติดเชื้อที่เท้า ทำให้รัฐต้องสูญเสียกำลังบุคลากรที่มีค่าและเสียค่าใช้จ่าย โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2551 พบว่ามีผู้ป่วยต้องถูกตัดเท้าสูงถึง 38,000 เท้า ด้วยการผนึกกำลังความร่วมมือในการวิจัยของ 2 องค์กร คือ โรงพยาบาลสิรินธร และ ของ 2 องค์กร คือ โรงพยาบาลสิรินธร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล) ได้พัฒนาแผ่นรองเท้าด้วยนาโนเทคโนโลยีเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อแผลกดทับที่เท้า ได้เป็นผลสำเร็จ โดยมีการทำพิธีเปิดคลินิกสุขภาพเท้าเบาหวานขึ้น ที่ รพ.สิรินทร เพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคเท้าจากอาการเบาหวาน ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาโรงพยาบาลสิรินธรครบรอบ 11 ปี
นายแพทย์พิพัฒน์ เกรียงวัฒนศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิรินธร เปิดเผยว่า รพ. สิรินธร เป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง เปิดดำเนินงาน มา 11 ปี โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรง พระราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธย สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชื่อโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบันคนไทยมีอัตราการเกิดโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ. 2553 พบว่ามีมากกว่า 607,828 ราย ใน ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Neuropathy) จะมีปัญหาแผลกดทับที่ฝ่าเท้าได้ง่าย และรักษายาก มักกลายเป็นแผลเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการกระจาย น้ำหนักที่ฝ่าเท้าไม่สม่ำเสมอ การเปิดบริการคลินิกสุขภาพเท้าเบาหวาน ด้วยนาโนเทคโนโลยี ทุกวันพฤหัสบดีแรกของทุกเดือน จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีบริการตัดแผ่นรองรองเท้าในราคาที่ประหยัดและรวดเร็ว พร้อมรับคำปรึกษาได้จากผู้เชี่ยวชาญ
ด้านายแพทย์เชิดพงศ์ หังสสูต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเท้า รพ.สิรินธร และ อาจารย์พิเศษด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ สจล.กล่าวเสริมว่า "แม้ปัจจุบันการรักษาแผลที่เท้าได้พัฒนาขึ้นมาก เช่น มีการใช้สายสวนขนาดพิเศษขยายเส้นเลือดไปเลี้ยงเท้า, การใช้ออกซิเจนความดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) เทคนิคการผ่าตัดแผลที่พัฒนาขึ้นมาก,การใช้ หนอนบำบัด (Maggot Therapy) และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสพ้นจากการตัดเท้ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่แม้เมื่อมีการรักษาจนแผลหายแล้ว ผู้ป่วยส่วนมากกลับยังไม่ได้รับรองเท้าที่เหมาะสมในการป้องกันการเกิดแผลทำให้พบมีอุบัติการณ์ การเกิดแผลซ้ำสูงถึง 36 เท่า ของผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่เคยเป็นแผลที่เท้า"
จากความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาล สิรินธร และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้นำเทคโนโลยีทางวิศวกรรมศาสตร์มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยพัฒนาระบบผลิตแผ่นรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในแบบรองเท้าเข้ารูปเฉพาะบุคคล หรือ iFUS Technology ให้ก้าวล้ำมีประสิทธิภาพสูงด้วยนาโนเทคโนโลยี เก็บรูปรอยเท้าและแรงกระทำของเท้าได้อย่างละเอียดแม่นยำและรวดเร็ว จากผลการวิจัยและทดลองพบว่า ช่วยให้แรงกดทับกระจายตัวอย่างสมดุลได้ผลดีมาก และเมื่อสวมใส่แผ่นรองเท้านี้เป็นประจำ จะช่วยลดอาการบาดเจ็บ และป้องกันแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
สำหรับการบริการแก่ผู้ป่วย คลินิกสุขภาพเท้าเบาหวาน ทุกวันพฤหัสบดีแรกของทุกเดือนนั้น มี 4 ขั้นตอน ใช้เวลารวดเร็วเพียง 60 นาที คือ 1.แพทย์สอบถามประวัติ 2.วัดน้ำหนักเท้าและเก็บรอยรูปเท้าด้วยนาโนเทคโนโลยี 3.ส่งรูปสแกนและข้อมูลมายังระบบคอมพิวเตอร์ 4.ผลิตแผ่นรองรองเท้าให้ผู้ป่วยรอรับ
"นอกจากนี้ เรายังต่อยอดทำรถบริการเคลื่อนที่ ชื่อ โครงการวันรักเท้าสัญจร - WE LOVE FOOT เป็นรถที่ครบครันด้วยอุปกรณ์ สัญจรไปยังโรงพยาบาลในภูมิภาคต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพเท้าให้กับคนไทยที่เป็นโรคเบาหวานได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีสิทธิประกันสุขภาพ (สปสช. )สามารถใช้บริการฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเข้ารับ การตรวจ เก็บรูปรอยเท้าและแรงกระทำของเท้าได้ สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ คุณวินัย สมบูรณ์นะ โทร. 08 2328 2323, Email: somboonna@yahoo.com หรือ www. welovefoot.org " แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเท้ากล่าว
ผศ.ดร.กิติพล ชิตสกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล) เพิ่มเติมว่า "กระบวนการทำแผ่นรองเท้าเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน ประกอบไปด้วยเครื่องเก็บรอยฝ่าเท้า และเครื่องผลิตแผ่นรองรองเท้าด้วยนาโนเทคโนโลยี เป็นผลงานวิจัยของ 2 หนุ่มนักวิจัย คือ นายอภิสิทธิ์ นำชัยชนะกิจ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คิดค้นเซ็นเซอร์วัดปริมาณแรงกดบริเวณใต้ฝ่าเท้า ด้วยวิธีการทางดิจิตัล ซึ่งเครื่องนี้มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์ม โดยทำงานคู่กับซอฟต์แวร์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง สามารถวัดปริมาณแรงกดบริเวณใต้ฝ่าเท้าแบบต่อเนื่องได้ ส่วนนายพงศ์พันธ์ วาทะสุนทรพงศ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้ร่วมพัฒนาเครื่องมือตัดแผ่นรองเท้าให้มีขนาดเล็กกะทัดรัดและใช้งานง่าย ผลิตได้รวดเร็ว แม่นยำ ช่วยลดขยะที่เกิดจากการผลิต และประหยัดราคาสำหรับผู้ป่วยอีกด้วย"
การผลิตทั้งหมดนี้ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมเข้ามาช่วยในการผลิต เช่น การสร้างแผ่นพิมพ์ในการผลิต การสร้างแบบจำลอง 3 มิติ การสร้างแบบจำลอง CAD-CAM (Computer-Aided Design / ComputerAided Manufacturing) การใช้เครื่อง CNC (Computer Numerical Control) ในการผลิต และการเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิตัล ซึ่งนับเป็นผลงานวิศวกรรมชีวการแพทย์ ( Bio-Medical Engineering) ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตในนานาประเทศ เปิดโอกาสให้คนไทยทั่วไปได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้นและกว้างขวางมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะคนที่มีรายได้สูงเท่านั้น.
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 มิถุนายน 2556
- 207 views