นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านยาและการรักษาสาขาต่างๆจากภาครัฐและเอกชน จำนวน 300 คน
ในการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2556-2558 เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุข และเกิดการใช้ยาอย่างคุ้มค่า ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ และเอกชนที่อยู่ในคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2556 เพื่อร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ กระบวนการต่างๆในการคัดเลือกยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อใช้ในระบบสาธารณสุข ซึ่งมีความจำเป็นและสำคัญ ที่จะต้องมุ่งเน้นทั้งเชิงวิชาการและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในแง่ของงบประมาณ ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมในการเข้าถึงยา และที่สำคัญต้องไม่ให้ค่าใช้จ่ายค่ายาหรือค่ารักษาเป็นภาระที่มากเกินไปของส่วนบุคคลหรืองบประมาณของประเทศ โดยจะนำหลักเกณฑ์นี้ไปกำหนดการคัดเลือกยาแต่ละตัว ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง
นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาจากข้อมูลบัญชีรายจ่ายยาแห่งชาติในปี พ.ศ. 2553 คนไทยบริโภคยาเป็นมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท เกือบทั้งหมดเป็นยาแผนปัจจุบันที่ต้องนำเข้าสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศ โดยฉบับล่าสุดคือ พ.ศ. 2555 มีรายการยาทั้งหมดทั้งหมด 878 รายการ ในจำนวนนี้เป็นยาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามหลักการแพทย์แผนไทยดั้งเดิม และยาพัฒนาจากสมุนไพรรวม 71 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 8
ผลการวิเคราะห์มูลค่าการใช้ยาในสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ในสังกัดทั่วประเทศ ในปี 2552 พบว่ามีมูลค่าใช้ยาสมุนไพรรวม 391 ล้านกว่าบาท และใช้ยาแผนปัจจุบันมูลค่า 21,172 ล้านกว่าบาท กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายจะเพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติให้ได้ร้อยละ 10 ภายใน 2558 เพื่อใช้แก้ไขปัญหาสุขภาพของคนไทย ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีหลักประกันด้านคุณภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัย
สำหรับคณะอนุกรรมการในการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ 2555-2558 นั้น จะมีการตั้งคณะทำงานรวมทั้ง 28 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการคัดเลือกยาแผนปัจจุบัน 20 สาขา เช่น สาขาหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินอาหาร โรคมะเร็ง เป็นต้น รวม 20 ชุด
2.คณะทำงานคัดเลือกยาจากสมุนไพร 1 ชุด 3.คณะทำงานคัดเลือกยากำพร้า 1 ชุด 4.คณะทำงานประสานผลการพิจารณายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ 1 ชุด 5.คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข 1 ชุด 6.คณะทำงานกำกับดูแลการสั่งใช้ยาบัญชี จ 2 หรือยาที่มีราคาแพง 1 ชุด 7.คณะทำงานต่อรองราคายาเพื่อบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ 1 ชุด 8.คณะทำงานติดตามและประเมินผลบัญชียาหลักแห่งชาติ 1 ชุด และ9.คณะทำงานประชาสัมพันธ์บัญชียาหลักแห่งชาติ 1 ชุด คาดว่าจะใช้เวลาในการคัดเลือกประมาณ 1 ปี เพื่อปรศใช้ให้ทันภายใน 2558
ที่มา: http://www.thanonline.com
- 30 views