คร. รณรงค์ฉีดยา ยาดีอีซี ให้แรงงานต่างด้าวสกัดโรคเท้าช้างแพร่ระบาดในไทย พุ่งเป้าแรงงานพม่าทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะ จ.ตาก ระนอง สมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวมากที่สุด
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขห่วงใยประชาชนไทยที่มีความเสี่ยงต่อโรคเท้าช้าง หลังจากเปิดให้มีการจ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และในอนาคตหากไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โรคเท้าช้างซึ่งกำลังจะกำจัดไปจากประเทศไทยได้แล้ว อาจจะกลับมาเป็นปัญหาได้อีกจากโรคเท้าช้างที่ติดมากับคนต่างชาติดังกล่าว
นอกจากนี้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก คาดว่า ขณะนี้มีผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคเท้าช้างในแหล่งแพร่โรค ประมาณ 1,400 ล้านคนใน 73 ประเทศทั่วโลก กว่า 120 ล้านคนมีการติดเชื้อ และประมาณ 40 ล้านคนปรากฏอาการและมีความพิการ ประมาณร้อยละ 65 ของผู้ติดเชื้ออยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร้อยละ30 อยู่ในภูมิภาคแอฟริกา
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่า ทุกจังหวัดยกเว้นจังหวัดนราธิวาสไม่พบคนไทยป่วยด้วยโรคเท้าช้าง ส่วนในแรงงานต่างชาติยังคงพบแรงงานพม่าป่วยเป็นโรคเท้าช้าง ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคดำเนินการควบคุมโรคนี้ในแรงงานต่างชาติไม่ให้แพร่ระบาดมายังคนไทยโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติมาก เช่น ตาก ระนอง สมุทรสาครเป็นต้น
ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเท้าช้างเป็นโรคที่เกิดจากหนอนพยาธิ และมียุงเป็นพาหะ ส่วนใหญ่ผู้ที่รับเชื้อพยาธิจะไม่แสดงอาการใดๆ ถ้าไม่ได้รับการรักษา จะมีการอักเสบเฉียบพลันเป็นๆหายๆ ของต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ขาหนีบ จนกระทั่งมีความพิการแขน ขา อวัยวะเพศโตถาวร หลังจากได้รับเชื้อพยาธิไปแล้วประมาณ3-5 ปี ยุงพาหะสำหรับพยาธิโรคเท้าช้างในประเทศไทยจะเป็นยุงลายป่าและยุงเสือ จากการสุ่มสำรวจแรงงานที่อนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศ พบว่ามีเพียงชาวพม่าเท่านั้นที่พบพยาธิโรคเท้าช้าง และพยาธิโรคเท้าช้างสายพันธุ์พม่านั้นจะมียุงพาหะเป็นยุงรำคาญ ซึ่งพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำสกปรกใน
เขตเมืองของประเทศไทย ประกอบกับพม่าจะยังคงพบพยาธิโรคเท้าช้างในอัตราที่สูงอยู่
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ได้กำหนดมาตรการเพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้คนไทยติดโรคเท้าช้างที่มากับชาวพม่า ดังนี้ 1.ตรวจโรคเท้าช้างในชาวพม่าที่ขึ้นทะเบียนและให้การรักษาในรายที่ตรวจพบพยาธิโรคเท้าช้าง 2.จ่ายยารักษาแบบกลุ่มแก่ชาวพม่าทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ด้วยยาดีอีซี (DEC-Diethy carbamazine citrate) ทุก 6 เดือน ในผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไปจะกินเพียง1 เม็ดใหญ่เท่านั้น เพื่อลดจำนวนเชื้อพยาธิในชาวพม่า 3.มีการเฝ้าระวังด้วยการเจาะโลหิตและศึกษาทางกฎวิทยาในพื้นที่ตัวแทน 4.รณรงค์ให้มีการจ่ายยารักษาแบบกลุ่มแก่ชาวพม่า
สำหรับยาดีอีซี อาจจะทำให้มีอาการมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนได้ ซึ่งอาการดังกล่าวจะไม่ร้ายแรง หายไปได้โดยไม่ต้องรับการรักษา แนะนำให้รับประทานยาหลังอาหารมื้อเย็นหรือก่อนนอน เพื่อลดความไม่สบายตัวจากอาการดังกล่าว สถานพยาบาลที่รับขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติจะต้องจัดหาเพื่อจ่ายยาแก่ชาวพม่าที่อยู่ในระบบบริการสุขภาพดังกล่าว นอกเหนือจากนี้ ท่านสามารถขอรับการสนับสนุนยาจากหน่วยงานในสังกัดของกรมควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และกรุงเทพมหานคร หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร 0 2590 3333
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย วันที่ 11 มิถุนายน 2556
- 64 views