เปิดพื้นที่แสดงศักยภาพชุมชน 7 พื้นที่ต้นแบบจังหวัดอุตรดิตถ์สร้างสรรค์โครงการจัดการสุขภาพชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนผ่านการมีส่วนร่วม คิดค้น วิเคราะห์ปัญหา นำไปสู่วิธีการจัดการทุกขั้นตอนโดยชุมชนอย่างแท้จริง ประชาชนภาคีเครือข่ายร่วมงานเสวนาแลกเปลี่ยน นำเสนอเส้นทางทำงานเพื่อชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพผ่านเวทีวิชาการและงานแสดงนิทรรศการผลิตภัณฑ์และอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพ

เมื่อวันที่ 22-23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โรงพยาบาลลับแล ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดงาน “มหกรรมสุขภาพสร้างสรรค์...ด้วยมือเรา” ที่โรงพยาบาลลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเปิดพื้นที่กลางสำหรับภาคีเครือข่ายในชุมชน บุคลากรด้านสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีที่สนใจในประเด็นสุขภาพ กว่า 500 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวิชาการและดูผลงานที่ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง รวมทั้งเปิดเวทีให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนางานและปรับระบบบริการให้สอดคล้อง เพื่อนำไปสู่การขยายผลให้สามารถขับเคลื่อนกระบวนทัศน์ใหม่ของการทำงานเชิงรุกสู่การสร้างสุขภาวะของชุมชนที่ยั่งยืน

“ผาสุข แก้วเจริญตา” ผู้จัดการโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการปฐมภูมิและภาคึในการจัดการสุขภาพแบบมีส่วนร่วมจังหวัดอุตรดิตถ์ (ปภสส.) เผยว่า งานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่การขับเคลื่อนทำงานเพื่อสุขภาพในชุมชนตามแผนงานของโครงการฯ ซึ่งตั้งเป้าสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพระบบบริการปฐมภูมิและภาคีในการจัดการสังคมสุขภาพของแบบมีส่วนร่วมจังหวัดอุตรดิตถ์  โดยใช้การสร้างกระบวนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยบริการปฐมภูมิให้เข้มแข็งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีสุขภาพในชุมชนในการจัดการสังคมสุขภาวะ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายแต่ละชุมชนในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจาก สสส. 

“การทำงานขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วมเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชนที่มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายในชุมชน มีแกนนำหลัก คือ นักจัดการสุขภาพชุมชน ซึ่งในแต่ละชุมชนจะมาจากทั้ง 3 ภาคส่วน คือ เป็น ผู้ให้บริการสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ทุกชุมชนจะมีทุกฝ่ายที่ก้าวมาเป็นแกนนำ ซึ่งจะได้เข้าฝึกอบรมการจัดการสุขภาพในรูปแบบที่เน้นกระบวนการคิด วิเคราะห์ ปัญหาของชุมชนด้วยตัวของชุมชนเจ้าของปัญหาเอง สุดท้ายทุกคนจะสามารถค้นพบวิธีการแก้ไขปัญหาที่สามารถลงมือทำได้จริง”

โครงการฯ วางยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ด้าน คือ การบูรณาการเป้าหมายและกระบวนการดำเนินงาน   การเชื่อมประสานเครือข่ายภาคีสร้างเสริมสุขภาพ การสนับสนุนทางวิชาการ  การจัดการความรู้และการสื่อสารนวัตกรรมสุขภาพ และ เวทีเสริมพลังซึ่งมุ่งสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่  สนับสนุนโดยทีมพี่เลี้ยง กระบวนการสร้างขวัญและกำลังใจ ยกย่องเชิดชู จัดการเรียนรู้แบบผ่อนคลายมุ่งให้เกิดการแสดงออกทางศักยภาพได้อย่างเต็มที่ มุ่งให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ และการให้การยอมรับนับถือความรู้ในตัวบุคคล

โดยโครงการฯ ในปีแรก 2556 มีการดำเนินงานในพื้นที่ต้นแบบ 7 แห่ง คือ ตำบลหัวดง ตำบลชัยจุมพล ตำบลพระเสด็จ ตำบลผาจุก ตำบลหาดสองแคว ตำบลคอรุม และ ตำบลลับแล ผ่านรูปแบบบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยบริการสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ แกนนำภาคประชาชน ในการคิด วิเคราะห์ปัญหา และร่วมกันออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จนถึงการประเมินผลดำเนินงานร่วมกันแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กระทั่งนำไปสู่รูปแบบของการจัดการสังคมสุขภาพที่หลากหลาย เช่น การจัดการอาหารปลอดภัยที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค การจัดการสิ่งแวดล้อม การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากการป้องกันปัจจัยเสี่ยง การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ รวมทั้งนวัตกรรมสุขภาพและองค์ความรู้ของชุมชนที่สามารถนำไปขยายผลการดำเนินงานเพื่อขยายผลในการแก้ปัญหาสุขภาพในกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้นในชุมชน

ภายในงาน “มหกรรมสุขภาพสร้างสรรค์...ด้วยมือเรา” มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำเสนอผลงานการขับเคลื่อนงานสุขภาพสร้างสรรค์ของ 7 พิ้นที่ต้นแบบ  ทั้งงานประชุมวิชาการ เวทีเสวนา งานแสดงนิทรรศการลานแสดงสินค้า ตลาดสีเขียวเพื่อชุมชน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลอดสาร อาหารปลอดภัย ผักอินทรีย์ และสินค้าพื้นเมืองลับแล โดยมี “นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น  รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะ 7 สสส. กล่าวเปิดงานพร้อมให้กำลังใจภาคีเครือข่ายผู้เข้าร่วมงานในการขับเคลื่อนจัดการสุขภาพชุมชน จากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษโดย “รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ”  ผู้อำนวยการ มหาวิทยาลัยชีวิต สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ในหัวข้อ “บทบาทเครือข่ายชุมชน และการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชน” ที่บอกเล่าเรื่องราวการทำงานร่วมกับชุมชนในมิติสุขภาพผ่านประสบการณ์ตรง นับเป็นการส่งเสริมแรงบันดาลใจให้เครือข่ายคณะทำงานนักจัดการสุขภาพชุมชนมองเห็นช่องทางการพัฒนาระบบการจัดการสุขภาพในพื้นที่ของตน

“นพ. กิตติพงศ์ อุบลสะอาด” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลับแล บอกว่าการทำงานของทีมนักจัดการสุขภาพชุมชนที่เกิดขึ้นใน 7 พื้นที่ มาจาก เจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลลับแล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแกนนำภาคประชาชนพื้นทีละ 5 คน ทำงานสร้างเสริมสุขภาพที่ใช้แนวทางการเรียนรู้แบบใช้บริบทเป็นฐานในการจัดการระบบสุขภาพชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนโดยมีกลไกการขับเคลื่อนจากทีมวิชาการของโรงพยาบาลลับแลทำหน้าที่ส่งเสริมการสร้างองค์รู้การใช้งานวิจัยในงานประจำและเป็นพี่เลี้ยงหนุนเสริมในทุกกระบวนการเรียนรู้ พร้อมยืนยันว่าปัจจุบัน เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายหลักในทุกพื้นที่ต้นแบบ และขยายผลไปยังประชาชนในชุมชน ให้เกิดความสนใจในการดูแลสุขภาพ เช่น ประเด็นอาหารอาหารต้านโรค ที่เกิดชุดความรู้อาหารของชุมชนในเมนูหลากหลาย เช่น  เมนูลดไขมันในเส้นเลือด เมนูต้านเบาหวาน อาหารปลอดสาร หรือในประเด็นการเลี้ยงหมูหลุมไร้กลิ่น และการจัดการขยะโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่เกิดความร่วมมือกันทำของชุมชน เนื่องจากแนวคิดในการจัดการแก้ไขปัญหาทุกอย่างนั้นมาจากการคิดค้นของตัวชุมชนทุกขั้นตอน

ด้าน “ผาสุข แก้วเจริญตา” กล่าวเสริมว่า ความสำเร็จในการเกิดทีมนักจัดการสุขภาพชุมชน มาจากการเปิดให้ตัวแทนชุมชนได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นแรก คือ การร่วมกันคิด วิเคราะห์ปัญหาของชุมชนด้วยตัวเอง ซึ่งส่งผลให้ความร่วมมือในชุมชนเกิดขึ้นได้จริง โดยมีทีมวิทยากรหลักเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน รวมถึงเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในการจัดการสุขภาพด้านต่างๆ เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ให้กับนักจัดการสุขภาพทั้งหมด

“ตอนเริ่มต้นงานใน 7 พื้นที่ ทำทุกวิธีเพื่อสนับสนุนให้แกนนำได้พลังและแรงบันดาลใจในการทำงาน เช่น บางครั้งได้ไปแลกเปลี่ยนในเวทีระดับภาค ระดับประเทศของชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทยซึ่งทำงานเชื่อมต่อกับชุมชนในหลากหลายพื้นที่อยู่แล้ว พวกเขาจะได้รับรู้ประสบการณ์ของคนอื่นๆ มาประยุกต์ใช้กับบ้านตัวเอง หรือแม้แต่การเกิดแรงฮึดในการทำงาน เพราะพื้นที่อื่นบางแห่งมีเงินตั้งต้นในการพัฒนาโครงการฯ เพียง 10,000 บาท แต่ยังทำงานให้เกิดผลสำเร็จขึ้นได้ ทำให้หลายคนก็คิดต่อว่า ทำไมชุมชนเราจะทำไม่ได้ ทั้งที่มีทุนตั้งต้นมากกว่าด้วยซ้ำไป ซึ่งพี่เลี้ยงก็ทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม ให้ลงมือทำ แล้วก็ชื่นชม”

และผู้จัดการโครงการฯ ยังย้ำถึงหนึ่งกลไกความสำเร็จในการทำงานคือจำเป็นต้องผลักดันให้ทุกชุมชนลงมือทำและให้กำลังใจกับชุมชนสม่ำเสมอ เพื่อเป็นพลังในการทำงานขั้นต่อไป ไม่ว่างานจุดเริ่มต้น จะเกิดผลลัพธ์ได้ดีหรือไม่อย่างไร การพูดสื่อสารเพื่อให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญเสมอ เนื่องจากสามารถส่งเสริมให้แต่ละคนก้าวผ่านความยากหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น  

ด้าน “ราตรี เป็งใจ” นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.แม่พูล อำเภอลับแล หนึ่งในนักจัดการสุขภาพในโครงการการขับเคลื่อนพลังชุมชนในการป้องกันโรคเบาหวานด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น “เมนูอาหารพื้นบ้านต้นโรคเบาหวาน” เล่าถึงการทำงานในรูปแบบยกให้ประชาชนเจ้าของปัญหาและแกนนำหลักในการขับเคลื่อนในระดับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่สามารถคิด ตัดสินใจ และเลือกดำเนินการออกแบบการจัดการสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เป็น กระบวนการส่งเสริมให้ทำงานจัดการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากการทำงานเรื่องจัดการสุขภาพในชุมชนก่อนหน้านี้ของ “ราตรี เป็งใจ” ด้วยวิธีการคิดค้นปัญหาเอง ชี้ปัญหาไปยังชุมชน บอกให้ชุมชนแก้ไขตามที่นโยบายของสาธารณสุขกำหนด ทำแล้วยังไม่สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้มากนัก รวมทั้งก่อนหน้านี้ระหว่าง รพ.สต. และ เทศบาล ยังเป็นการทำงานแบบแยกส่วนกัน เชื่อมต่อกันแค่ในระดับผู้บริหาร แต่เมื่อมีโครงการฯ นี้เข้ามาจำเป็นต้องเข้าอบรมกระบวนการร่วมกันทั้งสององค์กร พร้อมกับแกนนำภาคประชาชน ส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในการขับเคลื่อนงานร่วมกันทั้ง 3 ภาคส่วน  ในขณะที่การทำงานกับชุมชนมีประสิทธิผลมากขึ้น เกิดความร่วมมือกันวิเคราะห์หาทางจัดการปัญหาต่างๆ 

“เมื่อก่อนออกจดหมายเชิญมาประชุมยังไม่อยากมาเลย หรือมาก็แค่เป็นพิธีว่าหมอให้มาก็มาแค่นั้น แต่ตอนนี้โทรบอกก็มากันเต็ม มาจัดของ ช่วยกันทำข้าว คือพอผ่านกระบวนการร่วมกันคิดกันทำมาแล้วก็ดีขึ้นเยอะ ทุกคนในชุมชนมีศักยภาพในตัวเองเยอะ เก่งมาก แต่เมื่อก่อนเราเข้าไม่ถึงพวกเขาเลย เพราะเมื่อก่อนทำงานกันแบบข้างบนสั่งการลงมา ทุกวันนี้เป็นการทำงานแบบข้างล่างขึ้นไปข้างบน ทำให้เกิดการรับรู้และขยับงานในระดับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าเราย้ายจากที่นี่ไปเมื่อไหร่ ก็ยังทำงานต่อกันได้เพราะเหลือแกนนำอีกตั้ง 4 คน คอยสานต่อ ส่งต่อการทำงานให้กับคนใหม่มาทำแทนได้”

นอกจากนั้นในงาน “มหกรรมสุขภาพสร้างสรรค์...ด้วยมือเรา”  ยังมีเวทีเสวนา  “สุขภาวะชุมชน  ทุกคนคือแกนนำ มิติใหม่การจัดการสุขภาพชุมชน” กับตัวแทนนักจัดการสุขภาพชุมชน 7 พื้นที่พูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดในการพัฒนาระบบการจัดการสุขภาพชุมชนแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งพื้นที่ตลาดสีเขียว...เพื่อชุมชน ในบริเวณลานกิจกรรมโรงพยาบาลลับแล ซึ่งเป็นการออกร้านของกลุ่มเครือข่ายผลิตอาหารปลอดภันและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ผลิตโดยชุมชนกว่า 70  ร้านค้า เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวทางการจัดการปัญหาด้านสุขภาพของแต่ละชุมชนที่ทำได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม