แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท

สรุปผลการเจรจาระหว่างเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ

กับ ผู้แทนนายกรัฐมนตรี (นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ)

………………………………………………..

ตามที่ได้มีการเจรจาระหว่างเครือข่ายความเป็นธรรม ในระบบสุขภาพ กับ ผู้แทนนายกรัฐมนตรี (นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ และ วันที่ 6 มิถุนายน 2556 ณ ทำเนียบรัฐบาล ได้ข้อสรุป ดังต่อไปนี้

1.รัฐบาลยืนยันไม่ใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2.รัฐบาลจะยกเลิกการเก็บ 30 บาท หากทบทวนข้อมูลแล้วว่าไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะสม

3.รัฐมนตรีสาธารณสุขยืนยันที่จะปฏิบัติตามพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจะไม่มีการโอนอำนาจ ในการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพให้เขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งพฤตินัยและนิตินัย

4.ยืนยันจะไม่มีการแทรกแซงการบริหารงานของสปสช. เช่น ในกรณีการสั่งการให้มีการสร้างสำนักงาน สปสช.ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข

5.นายกรัฐมนตรีจะออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขององค์การเภสัชกรรม และกรณีการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล แล้วให้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อนายกรัฐมนตรี และเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณะเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำงานขององค์การเภสัชกรรม ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมในการสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ

6.รัฐบาลยืนยันจะไม่มีแปรรูปองค์การเภสัชกรรม โดยคงสถานภาพรัฐวิสาหกิจไว้ตามเดิม

7.รมว.กระทรวงสาธารณสุขยืนยันจะไม่มีการใช้เงินสะสม จำนวน 4,000 ล้านบาทขององค์การเภสัชกรรม เพื่อใช้สร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข

8. รมว.กระทรวงสาธารณสุขยืนยันจะไม่ให้มีการโอนงบประมาณโครงการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจำนวน 75 ล้านให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และให้เป็นไปตามข้อสังเกตุของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(ส.ต.ง.)

9.กรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของโรงพยาบาลชุมชน

(1) จะมีการออกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน ให้มีรายละเอียดตามฉบับ4และ6 โดยมอบหมายให้ ดร.คนิศ แสงสุพรรณไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

(2)ระยะวลานับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2556 จนถึงวันที่เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ให้ใช้กลไกการเยียวยาต่อผู้ถูกรอนสิทธิ์ ตามมติ ค.ร.ม.เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 โดยให้ชดเชยเท่ากับส่วนต่างระหว่างอัตราตามเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4,6 และ ฉบับที่ 8 ทั้งหมด ทุกกลุ่มวิชาชีพ

(3)จะตั้งคณะกรรมการที่มาจากสหวิชาชีพ และจากทุกภาคส่วน เพื่อพิจารณาปรับปรุงอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ในกลุ่มวิชาชีพอื่นๆให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น และพิจารณากำหนดพื้นที่ใหม่

10.ในส่วนของ P4P (Pay For Performance) ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน

(1)ให้เป็นไปโดยสมัครใจ และไม่จำเป็นต้องทำในทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย

(2)หากจะดำเนินการนำเอา P4P มาใช้งานในโรงพยาบาลชุมชน ต้องให้ทุกภาคส่วนและสหวิชาชีพ ศึกษาและกำหนดหลักการ หลักเกณฑ์รายละเอียด ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชนแต่ละแห่งก่อน และให้เป็นไปโดยสมัครใจ

11.เครือข่ายได้ชี้แจงเหตุผลถึงความไม่เหมาะสมในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ และได้มอบข้อมูลและหลักฐานให้กับนายกรัฐมนตรี พิจารณาและใช้ดุลยพินิจแล้วแล้วโดยจะมีการนำสรุปผลการเจรจา เข้าสู่ คณะรัฐมนตรี ในวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ในคราวประชุมสัญจรที่ จังหวัดกำแพงเพชร ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ จะประชุมและติดตามผลการประชุมของคณะรัฐมนตรี และกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหว ในวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ต่อไป

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท