เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำ งานสร้างเสริมสุขภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรมและวิธีแก้ปัญหาที่ใหม่ ทันสมัย ผลักดันให้เรื่องสร้างเสริมสุขภาพเป็นประเด็นในระดับประเทศ โครงการรณรงค์สำคัญของ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่คนไทยรู้จักกันดีอย่าง "งดเหล้า เข้าพรรษา" ระยะเวลาทำกิจกรรมนี้ยาวนานมาก 10 ปี พอที่จะเห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่น่าดีใจ เพราะช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนนั้น มีผู้ที่ตั้งใจเข้าร่วมทั้งงดดื่มตลอดและงดดื่มบางช่วง จากปีแรกมีเพียงร้อยละ 15 วันนี้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ตามการศึกษาของเอแบคโพล โดยสามารถลดค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท

แล้วยังมีโครงการ "รับน้องปลอดเหล้า" ที่ผลสัมฤทธิ์ดีขึ้นตามลำดับ จากปี 2549 มีการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงการรับน้องถึงร้อยละ 53.7 ลดลงในปี 2550 เหลือร้อยละ 17.4 และปี 2552 เหลือร้อยละ 9.8 ตัวเลขน้อยลงมาก อีกโครงการ "ของขวัญปลอดเหล้า" เริ่มรณรงค์ครั้งแรกในปี 2551 คนไทยรู้จักกับสโลแกน "ให้เหล้าเท่ากับแช่ง" ย้อนไป 5 ปีที่แล้วมีประชาชนร้อยละ 30.2 ยังซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นของขวัญ แต่ในปีต่อมาคนไทยเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น ลดการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นของขวัญเหลือร้อยละ 21.1 และร้อยละ 20.5 ในปี 2552 และปี 2553

แม้จะยังไม่เหลือศูนย์ แต่โครงการที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือค่านิยมเกี่ยวกับน้ำเมาที่ไม่ถูกต้องก็ยังจะเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นกิจกรรมที่เข้มแข็งมาก สอดรับกับสถิติของสำนักบัญชีประชาชาติ ปี 2555 พบว่า คนไทยเสียเงินซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว จาก 154,998 ล้านบาท ในปี 2550 ลดลงเหลือ 137,059 ล้านบาท ในปี 2554 เท่ากับสามารถประหยัดเงินค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เกือบ 18,000 ล้านบาท

เมื่อเร็วๆ นี้มีเรื่องน่ายินดีที่ สสส.ได้รับการยกย่องจากคณะผู้ประเมินระดับนานาชาติจากองค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ว่า เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มาจากประสบการณ์ในการทำงาน มีศักยภาพที่จะเรียนรู้และพัฒนาต่อไป รวมไปถึงสามารถเป็นต้นแบบที่ดี และเป็นแรงบันดาลใจแก่องค์กรที่ทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทั่วโลกในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ

โดยมี 4 เรื่องเด่นๆ คือ เป็นกลไกทางการเงินเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากภาษีสรรพสามิตเหล้าและบุหรี่ มีการทำงานโดยอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่จำกัดเฉพาะความร่วมมือจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขเท่านั้น ทำให้การทำงานสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค มีความครอบคลุม มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทำให้ไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่นหลายประเทศ ที่งานด้านสร้างเสริมสุขภาพเป็นภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีข้อจำกัดในการสร้างแนวคิดใหม่หรือนวัตกรรม เพราะความจำกัดของระบบราชการ ดังนั้นการมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นหน่วยงานนอกกระทรวงสาธารณสุขเช่นของไทย เอื้อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน

อีกจุดเด่นคือ ความก้าวหน้าทางความคิดและการสร้างสรรค์นวัตกรรมในการสร้างเสริมสุขภาพ นับเป็นแบบอย่างในการคิดเรื่องใหม่และนวัต กรรม การรับมือกับความเสี่ยงจากงานท้าทาย การสร้างนโยบาย และวิธีแก้ปัญหาที่ใหม่และทันสมัยอยู่เสมอ การประเมินผล ความพร้อมที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ในระยะที่ผ่านมา ทำให้ สสส.สามารถประยุกต์ความคิดใหม่สร้างเสริมสุขภาพได้ดี ทั้งยังสามารถพัฒนาต่อไปอีกด้วย

แม้ว่าหน่วยงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพในประเทศอื่นได้สร้างผลงานที่น่าสนใจหรือมีคุณค่ามากมาย แต่ไม่ได้ถือเป็นหน้าที่หรือความรับผิดชอบในการสร้างวัฒนธรรมการสร้างเสริมสุขภาพ จนถึงการนำเรื่องสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นประเด็นในระดับประเทศ เช่นที่ สสส.ดำเนินการอยู่ทุกวันนี้

และคณะผู้ประเมินระดับนานาชาติก็ยังระบุลักษณะเด่นของ สสส. เรื่องการสื่อสารสุขภาวะและการตลาดเพื่อสังคม ไม่เฉพาะเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น รวมถึงการใช้การตลาดเพื่อสังคมในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการปรับพฤติกรรม ในการถ่ายทอดความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพต่อสาธารณะ และการขับเคลื่อนนโยบายโดยเห็นว่าการดำเนินงานในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญเกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพอย่างชัดเจน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเด็นลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นผลที่น่าพอใจ สอดรับกับที่คณะผู้ประเมินเผยจุดเด่นอยู่ที่การสร้างเสริมสุขภาพในประชากรกลุ่มเฉพาะ การเสริมสร้างองค์กรสุขภาวะ มุ่งเน้นทำงานเสริมพลังชุมชน และทำงานร่วมกับประชาสังคมระดับท้องถิ่น ยิ่งกว่านั้นคณะผู้ประเมินได้ชื่นชมกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานของ สสส.ที่เน้นให้เกิดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะ การใช้กลยุทธ์การสื่อสารทางการตลาด เพื่อหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย หรือการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและวัฒนธรรม

ในโอกาสนี้ คณะผู้ประเมินได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางการทำงานต่อไป ด้วยการให้ทศวรรษหน้าเป็นทศวรรษแห่งการประเมินผล การเรียนรู้ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกฝ่ายต้องการให้เมืองไทยเป็นสังคมปลอดเหล้า เพื่อยกระดับสุขภาพและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะประชากรที่มีสุขภาวะดีทั้งกายและใจ ถือเป็นคนคุณภาพที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนชาติบ้านเมือง ซึ่งที่ผ่านมาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวเหนี่ยวรั้งและทำลายสังคมที่สำคัญของบ้านเรา ยังมีคนในสังคมที่มีวิถีการดำเนินชีวิตผูกติดกับการดื่มเหล้าเพื่อความสนุกสนาน บันเทิงเริงใจ หรือเพราะมีทัศนคติเพื่อเข้าสังคม

ข้อเสนอแนะที่เหล่าคณะประเมินระดับอินเตอร์เสนอเพื่อให้ สสส. และภาคีเครือข่ายจับมือกันเดิน 10 ปีต่อไปนั้น มีทั้งเสนอให้มีแผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุทางถนน และการออกกำลังกาย ยิ่งไปกว่านั้น ให้โฟกัสเรื่องควบคุมปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มประชากรผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งพัฒนาหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้มีขีดความสามารถในการทำงานร่วมกับองค์กรกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

ด้านการหนุนโยบาย ซึ่ง สสส.ดำเนินงานโดยการสร้างเครือข่ายสนับสนุนนโยบาย และการตลาดเพื่อสังคม ผู้ประเมินเห็นว่า ควรถ่ายทอดประสบการณ์ของ สสส.ทั้งด้านกรอบแนวคิดและแนวปฏิบัติในเรื่องการตลาดเพื่อสังคมให้แก่ประเทศอื่น เช่น จัดทำเป็นเอกสารนำเสนอในที่ประชุมนานาชาติ ตีพิมพ์ในวารสาร หรือจัดหลักสูตรอบรมพัฒนาศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงติดตามและประเมินผล หากทศวรรษหน้าจะเป็นทศวรรษแห่งการประเมินผลเพื่อการเรียนรู้ สสส.ควรเป็นสถาบันชั้นนำในการใช้การประเมินผลเป็นเครื่องมือพัฒนาระบบการประเมินด้านผลกระทบ ทั้งนี้หากมีข้อมูลไม่เพียงพอควรสนับสนุนให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูล รวมทั้งเป็นศูนย์ที่รวบรวมการวิจัยเชิงปฏิบัติการ การวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ การวิจัยด้านระบาดวิทยาสังคม และการวิจัยด้านประเมินผลเข้าไว้ด้วยกัน โดยควรถ่ายทอดผลการวิเคราะห์และสิ่งที่เรียนรู้จากการประเมินผลสู่วงกว้างทั้งในและต่างประเทศ

ข้อเสนอท้ายให้ควรพัฒนาหลักสูตรการอบรมผู้นำด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยวางแนว ทางการพัฒนาศักยภาพอย่างมีกลยุทธ์และเป็นระบบ หลักสูตรในการอบรมอาจประกอบด้วยการพัฒนาภาวะผู้นำ การระดมทุน ระดมพลังขับเคลื่อนนโยบาย การตลาดเพื่อสังคม การคิดเชิงยุทธศาสตร์ การวิจัยเชิงปฏิบัติการ

ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอแนะดีๆ ที่คณะผู้ประเมินส่งถึง สสส. องค์กรที่ทำงานส่งเสริมสุขภาพของบ้านเรา ซึ่งแม้ปลายทางจะยังต้องมีอุปสรรคและเจอโจทย์ใหม่ๆ เข้ามาท้าทายตลอด แต่เส้นทาง 10 ปีที่ผ่านมาของกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะกิจกรรมงดเหล้า ก็สะท้อนให้เห็นผลงานที่โดดเด่นและสุขภาพคนไทยที่จะดีขึ้นแล้วเช่นกัน.

โครงการรณรงค์งดเหล้าสำคัญ

*  โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา (ปี 46-55) ช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน มีผู้เข้าร่วมทั้งงดดื่มตลอดและงดดื่มบางช่วง จากปีแรกมีเพียงร้อยละ 15 ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ

*  โครงการรับน้องปลอดเหล้า จากปี 49 มีการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงการรับน้องร้อยละ 53.7 ลดลงในปี 50 เหลือร้อยละ 17.4 และปี 52 เหลือร้อยละ 9.8 ตามลำดับ

*  โครงการของขวัญปลอดเหล้า เริ่มรณรงค์ปี 51 "ให้เหล้าเท่ากับแช่ง" พบว่า ประชาชนร้อยละ 30.2 ยังซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นของขวัญ ปีต่อมาคนเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น ลดการซื้อเหล้าเป็นของขวัญเหลือร้อยละ 21.1 และร้อยละ 20.5 ในปี 52, ปี 53 ตามลำดับ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 7 มิถุนายน 2556