สังคมชนบทเป็นสังคม ผู้สูงอายุและเด็ก เนื่องจากผู้ใหญ่หรือหัวหน้าครอบครัวเดินทาง ไปทำงานต่างจังหวัด ทิ้งเด็กให้อยู่กับผู้สูงอายุ เกิดช่องว่างระหว่างวัย เด็กส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อน ทำให้มีปัจจัยยั่วยุให้เกิดปัญหา เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไกรนอก และองค์การบริหารส่วนตำบลไกรนอก ต.ไกรนอก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เล็งเห็นปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของเด็กในชุมชน เพราะหากปล่อยปัญหาดังกล่าวทิ้งไว้ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
นายวิศาล วิมลศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ร.พ.สต.) ไกรนอก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เล่าว่าในปี พ.ศ.2552 ได้มีการริเริ่มโครงการแม่อาสาเพื่อเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ให้อาสาสมัครเข้าไปดูแลเชิงรุกประชาชนในชุมชน โดยเน้นการดูแลหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอดและเด็กแรกเกิด ให้เปรียบเหมือนแม่คนที่ 2 จากการไปศึกษาดูงานที่ ต.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราช ตำบลต้นแบบ จึงนำมาพัฒนาต่อยอดจากงานเดิมของอาสาสมัครที่ทำอยู่ โดยผลักดันให้มีการทำงานเชิงรุกเฉพาะกลุ่ม เกิดเป็นแม่อาสาประจำ ต.ไกรนอก
ปัจจุบัน ต.ไกรนอก มีแม่อาสา 16 คน จะเข้ามาดูแลหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงหลังคลอด โดยให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาคุณแม่มือใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเยาวชนที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลตัวเอง กลุ่มแม่อาสาทำงานร่วมกับร.พ.และอสม. เพื่อช่วยค้นหาว่าหมู่บ้านไหนมีหญิงตั้งครรภ์ จะแนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์ให้ถูกต้อง ถือเป็นกลุ่มต้นแบบของการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ ต.ไกรนอก ในเครือข่ายตำบล สุขภาวะ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางพิทยา ชะอุ้ม หนึ่งในอาสาสมัครแม่อาสา ซึ่งทำงานมานานถึง 16 ปี เล่าว่า วัยรุ่นใน ต.ไกรนอก เมื่อจบมัธยมปลายจะไปศึกษาต่อที่อื่น ซึ่งมีเด็กส่วนใหญ่ที่กลับมาแล้วปรากฏว่าท้องโดยไม่รู้ตัว บางคนก็อายที่จะฝากครรภ์ ทำให้ได้รับการดูแลไม่ได้ตามเกณฑ์ เด็กมีปัญหา น้ำหนักน้อย รับวัคซีน ไม่ครบ
แม่อาสา เปรียบเสมือนเป็นแม่คนที่ 2 ที่คอยดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ตั้งแต่รู้ว่าเริ่มท้องใน 2 เดือนแรก จากจิตอาสาของกลุ่มอสม. ต.ไกรนอก ทำให้หญิงตั้งครรภ์ในตำบลได้รับคำแนะนำที่ดี เด็กและเยาวชนในตำบลยังได้รับความรู้ในเรื่องท้องก่อนวัยเรียนด้วย
ที่มา: http://www.khaosod.co.th
- 72 views