ยารักษาโรค เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต ซึ่งปัจจุบันพบว่าคนไทยมีการเข้าถึงยามากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นทุกปี คิดเป็นเกือบร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท ค่ายาประมาณ 100,000 ล้านบาท นับเป็นมูลค่ามหาศาลและมากกว่าที่ควรจะเป็น สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และความไม่รู้ของประชาชนอยู่อีกมาก
ด้วยตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาการใช้ยาดังกล่าว ในงานประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นวาระครบ 100 ปีวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาล และเป็นปีที่สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ก่อตั้งมาครบ 24 ปี จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบทบาทวิชาชีพของเภสัชกรโรงพยาบาล ในการเป็นผู้ให้ข้อมูลและความรู้ด้านยาแก่ประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยมีเภสัชกรโรงพยาบาลจากทั่วประเทศกว่า 400 คน ให้ความสนใจ ณ อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ซอยศูนย์วิจัย เมื่อเร็วๆ นี้
ภก.สมชัย วงศ์ทางประเสริฐ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภายในงานได้มีการนำเสนอผลการวิจัยเรื่องยาเหลือใช้ ซึ่งทำการศึกษาจากข้อมูลการจ่ายยาในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 4 โรค คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง กว่า 57,916 ราย พบว่า ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 60 มียาเหลือใช้ คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 4% และประมาณการว่ามูลค่ายาเหลือใช้ทั้งประเทศมีประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดปัญหานี้ได้หากมีความตระหนักและจัดการอย่างเหมาะสม และยังมีผลการศึกษาเกี่ยวกับ "ความรู้เรื่องยา" ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังครอบคลุมโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ จำนวน 3,136 ราย ซึ่งพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องยา โดยร้อยละ 50 ไม่รู้จักชื่อยาที่ตนเองใช้ และมีเพียงร้อย 53.6 ที่อ่านฉลากก่อนการใช้ยา
ภก.สมชัย ให้คำแนะนำว่า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุดจากการใช้ยา ผู้ป่วยควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดทุกครั้งก่อนใช้ยา และไม่ควรใช้ยาของคนอื่น การไม่อ่านฉลากยา และใช้ยาผิด อาจทำให้เกิดการแพ้ยาอย่างรุนแรงและอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากมีข้อสงสัยให้ปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง สำหรับผู้ที่มียาเหลือใช้อยู่ในบ้านต้องระมัดระวังและจัดเก็บให้ดี เพราะถือเป็นความเสี่ยงใกล้ตัว ถ้าเก็บไม่ถูกวิธี จะกลายเป็นยาเสีย หากมีคนนำไปใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น ยาเหลือใช้ที่ยังไม่หมดอายุและอยู่ในสภาพดี ควรเก็บอยู่ในซองยาหรือขวดยาเดิมไว้ในที่เดียวกันและให้พ้นมือเด็ก หรือเก็บในตู้ยา หรือกระเป๋ายาให้พ้นแสงแดด ไม่อยู่ในที่ชื้น แต่อย่าเก็บยาในตู้เย็นยกเว้นยาที่มีฉลากระบุไว้ อย่านำยาเหลือใช้มารวมในซองยา หรือขวดยาเดียวกัน อย่าแกะยาออกจากแผงหากยังไม่ใช้ ที่สำคัญอย่านำยาเหลือใช้ไปให้คนอื่นใช้ และอย่ากินยาที่คนอื่นให้มา เพราะอาการที่คล้ายกันอาจไม่ได้เกิดจากโรคเดียวกัน ขนาดยาก็อาจไม่เหมาะสม และอาจเกิดอาการแพ้ยาได้อีกด้วย
ส่วนยาเหลือใช้ที่หมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ สีเปลี่ยนแล้วให้ทำลายก่อนทิ้ง โดยแกะฉลากที่มีชื่อผู้ป่วย ถ้าเป็นยาเม็ดให้ทุบทำลายและเติมน้ำเล็กน้อย ถ้าเป็นยาน้ำก็ให้เทน้ำผสมลงไป ส่วนยาที่เป็นครีมหรือขี้ผึ้ง ให้บีบออกจากหลอด จากนั้นนำกากชา ขี้เลื่อย เศษผัก หรือเปลือกผลไม้ ผสมลงไปในถุงเดียวกัน ปิดปากถุงให้สนิทก่อนนำไปทิ้ง เพื่อไม่ให้คนอื่นนำยาที่ทิ้งนั้นไปใช้ได้อีก
ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยจากการใช้ยามากยิ่งขึ้น ทางสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้จัดทำสมุดบันทึกการใช้ยาประจำตัวผู้ป่วย และแอพพลิเคชั่นโปรแกรมบันทึกบัตรแพ้ยาที่สามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสะดวกในการบันทึกประวัติแพ้ยาได้ด้วยตนเอง และเภสัชกรผู้ประเมินอาการก็สามารถบันทึกข้อมูลผ่านทางมือถือ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องลืมบัตรแพ้ยา นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นดังกล่าวยังมีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการแพ้ยาทั้งในรูปแบบบทความและวีดีโอ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด แอพพลิเคชั่น "โปรแกรมบันทึกบัตรแพ้ยา" ได้ทาง App store หรือ www.thaihp.org โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ภายในงานประชุมวิชาการ 24 ปีสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ดังกล่าว ยังได้มีการมอบรางวัลแก่เภสัชกรโรงพยาบาลดีเด่น เภสัชกรโรงพยาบาลดีเด่นรุ่นเยาว์ ทีมงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลดีเด่น และเภสัชกรเกียรติคุณ รวมทั้งสิ้น 14 ราย โดย ภก.จตุพร ทองอิ่ม เภสัชกรประจำศูนย์บริการสาธารณสุข 51 วัดไผ่ตัน สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับรางวัลเภสัชกรดีเด่น ด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมปฐมภูมิ ประจำปี พ.ศ.2556 กล่าวว่า "การให้คำแนะนำเรื่องยาแก่คนไข้ในสถานพยาบาลอาจไม่ได้ทำให้คนไข้ใช้ยาได้ถูกต้องหรือแก้ปัญหาของคนไข้ได้ทั้งหมด การไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้านสำหรับคนไข้บางคนที่มีปัญหาเรื่องการใช้ยาหรือรักษาแล้วไม่ได้ผลตามต้องการ จะเป็นการแก้ปัญหาแบบองค์รวม เนื่องจากได้เห็นทั้งสภาพแวดล้อม การดำเนินชีวิตประจำวัน พฤติกรรมคนไข้ รวมทั้งญาติหรือผู้ดูแล ทำให้รู้ต้นเหตุของปัญหา บางคนหยุดยาเองไม่ใช่เพราะไม่อยากกิน แต่เพราะทนอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นไม่ได้ การรู้สาเหตุของปัญหาหรือทุกข์ของคนไข้ที่เกิดจากยาทำให้แก้ปัญหาได้ตรงประเด็น"
ภญ.วนิชา ปิยะรัตนวัฒน์ เภสัชกร ประจำโรงพยาบาลสมุทรสาคร เภสัชกรดีเด่น ด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม (บนหอผู้ป่วย) ประจำปี พ.ศ. 2556 กล่าวว่า "เวลาดูแลคนไข้บนหอผู้ป่วย และช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องยาให้เขาได้จะมีความสุขมากค่ะ อย่างมีคนไข้รายหนึ่งที่จำได้ไม่ลืม คือ คนไข้ที่เข้าโรงพยาบาลเพราะชักขณะขับมอ เตอร์ไซค์ทั้งๆ ที่ได้รับยากันชักอยู่ กลับมาทบทวนประวัติพบว่า ผู้ป่วยชักและเกิดอุบัติเหตุเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ยากันชักที่ได้รับอยู่ก็ได้ในขนาดที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวคนไข้อยู่แล้ว คนไข้เองก็กินยาสม่ำเสมอ จึงขอแพทย์เจาะระดับยาในเลือด พบว่าต่ำมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะคนไข้คนนี้ร่างกายมีการทำลายยาได้มากกว่าคนทั่วไป ขนาดปกติที่ใช้อยู่จึงใช้ไม่ได้ผล จึงต้องมีการปรับเพิ่มขนาดยากันชักใหม่จนควบคุมอาการได้ เมื่อเจอผู้ป่วย คำพูดที่ผู้ป่วยบอกเราคือ ผมไม่ชักแล้วครับ ทำให้มีความสุขและเกิดกำลังใจในการดูแลผู้ป่วยต่อไป"
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
- 142 views