"เอฟทีเอ ว็อทช์" หวั่นไทยหลงกลงับเป้าหลอกเอฟทีเอยุโรปเปิดช่องจับยึดยาสามัญ ณ จุดผ่านแดน
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่าการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู)ครั้งแรกที่เริ่มในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม มีประเด็นที่น่าวิตกเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขถูกจำกัดบทบาทให้ดูเฉพาะข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการขยายอายุสิทธิบัตรผูกขาดอันเนื่องจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยา และหัวข้อการผูกขาดข้อมูลทางยาเท่านั้น
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ทั้งสองประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ความมุ่งหมายที่แท้จริงของอียูในการเจรจา เพราะอียูยอมยกเลิกข้อเรียกร้องดังกล่าวกับอินเดียไปแล้ว แต่ความมุ่งหมายจริงอยู่ที่การยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากขึ้นในหมวดย่อยการบังคับให้เป็นไปตามสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งมาตรการ ณ จุดผ่านแดน ซึ่งอียูต้องการให้มีการยึดจับยาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจนำไปสู่การยึดจับยาชื่อสามัญ และทำลายผู้ผลิตยาชื่อสามัญด้วยการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม
"ถ้าฝ่ายไทยไหวตัวไม่ทัน ยอมตามข้อเรียกร้องนี้ เขาก็กำไรไป ดังนั้น ต้องไม่ยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าว แล้วเสนอเนื้อหาที่สร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้ทรงสิทธิและสร้างความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา" น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
น.ส.กรรณิการ์ ยกตัวอย่างข้อเรียกร้องของอียูในการขยายการยึดจับอายัดสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ดูได้ด้วยตาเปล่า นั่นคือเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ โดยให้รวมไปถึงสินค้าที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิบัตรทั้งที่ดูด้วยตาเปล่าไม่ได้ อีกทั้งยังเรียกร้องให้สามารถร้องต่อศาลให้ยึดจับและระงับโดยแม้ไม่มีหลักฐานเพียงพอ ไม่วางเงินประกัน ไม่ฟังคำชี้แจงอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่กำหนดระยะเวลาการยึด ให้ระงับทุกกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่ถูกกล่าวหานั้น เช่น การขนส่ง การจัดหาวัตถุดิบ ให้ยึดจับแม้อาจยังไม่ได้ละเมิด เป็นต้น
"น่าวิตกมาก เพราะเนื้อหาใหญ่ๆ ต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้านในการจัดระบบยาและเวชภัณฑ์เช่นนี้ เจ้าหน้าที่ อย.ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเจรจา แต่กลับตกอยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น จึงขอตั้งข้อสังเกตให้นายโอฬาร ไชยประวัติหัวหน้าคณะเจรจาพิจารณาแก้ไขปัญหานี้ด้วย" น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างรอบคอบเพราะร่างฉบับล่าสุดลดทอนความสำคัญของประชาชนโดยโอนอำนาจกลับไปยังฝ่ายบริหารและข้าราชการประจำ
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 27 พฤษภาคม 2556
- 1 view