หมอชนบทคาดชุมนุมหน้าบ้านนายกฯ 3-4 พันคน ยันใช้สิทธิลาถูกต้อง ปัดยุคนไข้ล้างไตประท้วง ชี้สมัครใจทำเอง
กรณีที่ชมรมแพทย์ชนบท พร้อมสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม กลุ่ม ผู้ป่วยโรคไต นัดชุมนุมและล้างไตที่บริเวณ หน้าบ้านพักน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 มิถุนายน เพื่อเรียกร้องให้ปลด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เนื่องจากเห็นว่าขาดธรรมาภิบาลในการบริหาร สธ. ทั้งด้านนโยบาย แทรกแซงการบริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.) รวมถึงมีความไม่ชอบธรรมในการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.นั้น
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้สัมภาษณ์ว่า การชุมนุมดังกล่าวไม่ได้บังคับ หรือยุยงใคร โดยเฉพาะผู้ป่วยที่จะไปล้างไตประท้วง ที่ไปด้วยความสมัครใจ แต่ชมรมแพทย์ชนบทมีความเป็นห่วง และไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ หากมีการดำเนินการจริง จะมีแพทย์ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งเตรียมรถพยาบาลดูแลกลุ่มผู้ป่วยหากเกิดกรณีฉุกเฉินด้วย
"แต่จะให้พวกผมไปห้ามคงไม่ได้ เนื่องจากผู้ป่วยมองว่า เมื่อองค์การเภสัชฯเสียภาพลักษณ์ ย่อมส่งผลต่อระบบการผลิตและนำเข้ายาสามัญ ซึ่งเป็นยาที่มีราคาถูก แต่คุณภาพเทียบเท่ายาต้นแบบ และจะไม่ได้ส่งผลต่อผู้ป่วยไตวายเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อผู้ป่วยทั้งหมดที่อาจต้องใช้ยาราคาแพงในอนาคต" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การชุมนุมครั้งนี้ได้ขออนุญาตหน่วยงานต้นสังกัดหรือไม่ เพราะอาจมีการคาดโทษ นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า จากการร่วมมือร่วมใจกันครั้งนี้ คาดว่าจะมารวมตัวกันประมาณ 3-4 พันคน โดยในส่วนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จะไปร่วมชุมนุมกันประมาณ 3-4 พันคน โดยในส่วนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จะไปร่วมชุมนุมได้ใช้สิทธิลาอย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวล และในสัปดาห์หน้าก่อนการชุมนุมจะนัดหารือกันระหว่างแกนนำแต่ละกลุ่มด้วย เพื่อประเมินว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อหรือไม่ และเรื่องนี้อยู่ที่ นายกฯว่าจะเห็นความสำคัญของประชาชนหรือไม่
นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวอีกว่า สาเหตุที่นัดชุมนุมในวันที่ 6 มิถุนายน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ สธ.จะจัดประชุมชี้แจงนโยบายค่าตอบแทนที่อิงผลปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี จึงอยากให้ผู้บริหาร สธ.เห็นพลังของบุคลากรในสังกัด
"ในวันดังกล่าว พวกเราจะรวบรวมรายชื่อผู้ร่วมอุทธรณ์กระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการละเมิดสิทธิตามนโยบายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นพีฟอร์พี การทำให้ อภ.เสียหาย การปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล พ้นจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการ อภ. ที่ส่อให้เห็นถึงการแทรกแซงระบบ และการเอื้อต่อภาคเอกชน โดยจะยื่นอุทธรณ์ สธ.ก่อนไปยื่นต่อศาลปกครองเพื่อฟ้อง นพ.ประดิษฐ และผู้บริหาร สธ.ในการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รอง ผบช.น. กล่าวถึงมาตรการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมของกลุ่มแพทย์ชนบทและเครือข่าย ที่หน้าบ้านนายกฯ ว่า เจ้าหน้าที่เตรียมการรองรับไว้แล้ แต่จะพยายามไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมปิดกั้นการจราจรเด็ดขาด
"ยืนยันว่าไม่สามารถปล่อยให้ชุมนุมบริเวณหน้าบ้านนายกฯได้ เนื่องจากพื้นที่แคบ โดยจะจัดพื้นที่ให้กลุ่มผู้ชุมนุม ขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ชุมนุมหลีกเลี่ยงการกีดขวางการจราจร" พล.ต.ต.ปริญญา
วันเดียวกัน ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม อดีตประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงกรณีถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้มูลการกระทำเข้าข่ายความผิดจากการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ว่า ยังไม่ได้รับรายงานการชี้มูลจากดีเอสไอ แต่ยืนยันว่าสิ่งที่ดีเอสไอกล่าวหาไม่เป็นความจริง และอะไรที่เป็นการละเมิดก็จะต้องใช้สิทธิปกป้องตัวเอง ส่วนการปลด นพ.วิทิต เป็นการส่งสัญญาณว่าการเมืองจะเข้าไปแทรกแซง
"องค์กรรัฐวิสาหกิจ ต้องมีระบบธรรมาภิบาล แต่เมื่อการเมืองเข้าไปแทรก ระบบธรรมาภิบาลก็จะไม่เหลือ องค์กรก็จะเสื่อม ถูกทำลายและถูกฉกฉวยผลประโยชน์ ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนตามเจตนารมณ์ของการตั้งองค์กรอีกต่อไป วิธีการมีหลากหลาย เช่น แทนที่จะผลิตยาตัวที่ผลิตได้ก็ไม่ผลิตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจยาข้ามชาติได้รับผลประโยชน์ หรือแทนที่จะพัฒนาการผลิตยาของตัวเอง ก็อาจเอื้อองค์กรอื่น" นพ.วิชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สมัยเป็นประธานบอร์ด อภ.เคยมีมติปลด พล.ท.นพ.มงคล จิวะสันติการ พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.ด้วย นพ.วิชัยกล่าวว่า การปลดผู้อำนวยการ อภ.ในสมัยนั้น แตกต่างจากครั้งนี้มาก ขณะนั้นบอร์ด อภ.พิจารณาโดยอิสระ ชั่งน้ำหนักทุกอย่างแล้วเห็นว่าสมควรที่จะเลิกจ้างและไม่ได้มีการกล่าวโทษว่าทำความผิดร้ายแรง แต่ให้เหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ขององค์กรจึงขอเลิกจ้าง
นพ.วิชัยกล่าวว่า เท่าที่ทราบข่าวมาจากกรรมการหลายคนระบุว่าถูกบังคับให้ต้องเข้าประชุมในนัดที่มีมติปลดนพ.วิทิต ทั้งๆ ที่มีภารกิจต้องไปต่างประเทศหรืออยู่ต่างจังหวัด และต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ด้วย
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชมรมรักษ์ สปสช.กว่า 50 คน รวมตัวกันให้มอบดอกไม้และร้องเพลงให้กำลังใจ นพ.วิทิต ขณะที่ นพ.วิทิตก็ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ทำให้เจ้าหน้าที่บางคนถึงกลับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
นพ.วิทิตกล่าวว่า หลังรับราชการมา 30 ปี ก็เดินตามเส้นทางของวิชาชีพแพทย์มาตลอด อาจไม่ได้ต่อสู้แบบเอาชีวิตเข้าแลกเหมือนพี่คนอื่น แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับพี่ อาจเทียบไม่ได้ แต่ไม่ได้เสียใจ และเสียดาย เพราะเชื่อว่าทุกอย่างมีจุดจบ ไม่ว่าสัญญาจ้างหรืออายุขัย ขอขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจ
"อยากบอกว่ามาถึงวันนี้ ชีวิตคุ้มค่าแล้ว ส่วนพวกมาร พวกอยุติธรรม ก็เหมือนเชื้อโรค ที่ต้องอยู่กับเชื้อโรคให้ได้ โดยมีภูมิต้านทาน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนที่ซ้ำซาก เกิดขึ้นในกระทรวงและรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เชื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนที่ซ้ำซาก เกิดขึ้นในกระทรวงและรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เชื่อว่าทุกคนเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นมาพอสมควร จึงไม่อยากให้เสียใจ ส่วนคนที่ใช้อำนาจอยู่บนความอยุติธรรม ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ในที่สุดก็จะเห็นว่าไม่ยั่งยืน ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนหากทำเช่นนั้นก็ไม่ยั่งยืน คนที่เกิดเพื่อล่า ก็ต้องล่าต่อไป ส่วนคนที่เป็นเหยื่อก็ต้องเป็นเหยื่อ" นพ.วิทิตกล่าว
นพ.วิทิตกล่าวว่า "มีคนถามผมว่าระหว่างตามใจผู้มีอำนาจกับมีอุดมการณ์แต่ไร้สเถียรภาพ จะเลือกอะไร ผมตอบแบบไม่ลังเลคือมีอุดมการณ์ เพราะคนที่มีอำนาจอยู่ไม่นานก็ไป เราต้องยึดสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีคนบอกว่าผมแพ้ แต่ผมคิดว่าเกมนี้ยังไม่จบ ถ้าดินไม่กลบหน้าก็ถือว่าไม่รู้แพ้ รู้ชนะ กรรมที่ใครก่อก็จะได้เช่นนั้น ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่โทษใคร แต่ขอโทษตัวเองที่ทำดีไม่พอ ต่อจากนี้ ยังเดินเส้นทางของตัวเอง เป้าหมายคือทำงานเพื่อสุขภาพของประชาชน และหวังว่าจะได้กลับมาทำงานเพื่ออุดมการณ์เดียวกันอีกครั้ง" นพ.วิทิตกล่าว
นพ.วิทิตกล่าวว่า สำหรับงบ 75 ล้านบาทในการทำกิจกรรมภาพลักษณ์ ตามระเบียบ อภ. พ.ศ.2546 ที่จะให้กับสถานพยาบาลที่ชำระเงินภายใน 60 วันจะได้รับเงินเพื่อทำโครงการพัฒนาต่างๆ ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าฝ่ายการเมืองใช้อำนาจให้ สปสช.โอนให้แก่ สธ.นั้น ตนได้ปรึกษาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับคำแนะนำว่า ในทางปฏิบัติการโอนเงินเป็นสิ่งที่ทำได้ในทางแพ่ง แต่ด้านความรับผิดชอบของส่วนราชการถือว่าไม่เหมาะสม เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางที่ให้คำปรึกษา แต่วันรุ่งขึ้นตนโดนปลดออกจากตำแหน่ง
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกระแสข่าวในสมัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ได้ขยายไลน์โรงพยาบาลพร้อมมิตร มีคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ นพ.วิทิตกล่าวว่า ขณะนั้นโรงพยาบาลบ้านแพ้วมีประเด็นเรื่องการส่งต่อ เพราะค่อนข้างลำบาก โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยก็แน่น เมื่อโรงพยาบาลพร้อมมิตร ซึ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือและแพทย์เฉพาะทางมาก พร้อมจะให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วเข้าไปดำเนินการในรูปแบบการเช่า แต่ด้วย พ.ร.ฎ.ของบ้านแพ้ว ดำเนินการเองไม่ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง สธ.ที่ดูแลในยุคนั้นคือนายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ลงนามให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วกระจายออกมาได้จนถึงปัจจุบัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 24 พฤษภาคม 2556
- 14 views