หากใครยังพอจำกันได้-ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมามีข่าวสะเทือนใจเกิดขึ้นที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย หลังเด็กหญิงทารกฝาแฝดซึ่งคลอดก่อนกำหนดถูกโรงพยาบาลราว 10 แห่งปฏิเสธรับตัวเข้ารักษาอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้แฝดผู้พี่เสียชีวิต และโรงพยาบาลที่เคยปฏิเสธการรักษาก็ตัดสินใจรับตัวแฝดผู้น้องมาดูแล โดยมีสื่ออินโดฯ และสื่อต่างประเทศช่วยรายงานข่าวกดดันกันครึกโครม
สำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อที่ติดตามข่าวนี้ตั้งแต่ต้น เผยรายงานพิเศษเมื่อ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าโศกนาฏกรรมครั้งนั้นได้นำไปสู่การตั้งคำถามกับระบบประกันสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขของอินโดฯ ประกาศใช้ในกรุงจาการ์ตาตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ในฐานะ “โครงการนำร่อง” ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีฐานะยากจนราว 5 ล้านคนในกรุงจาการ์ตารับบริการทางการแพทย์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้มีผู้แห่เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์ จนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ
ผู้คัดค้านนโยบายดังกล่าว ไม่พอใจที่กระทรวงสาธารณสุขนำงบประมาณรัฐไปแบกรับค่าใช้จ่ายแทนผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน ขณะที่ธนาคารโลกเผยว่ารัฐบาลอินโดฯ จะต้องใช้งบสูงถึง 13,000-16,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขแก่คนจนทั้งหมด ซึ่งถือเป็นภาระอันหนักหน่วงสำหรับประเทศที่มีประชากรกว่า 240 ล้านคน
อย่างไรก็ดี นายโจโก วิโดโด ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ประกาศสนับสนุนระบบประกันสุขภาพคนจนอย่างสุดตัว โดยระบุว่าการเริ่มต้นนโยบายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าหากมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ขอให้แก้ไขและปรับปรุงเพื่ออุดช่องโหว่กันไป เพราะยังมีคนจนอีกราว 86.4 ล้านคนที่ต้องการความคุ้มครองด้านสุขภาพ และแต่ละปีมีคนจนกว่า 500,000 คนต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล จึงมีคำถามว่าผู้คัดค้านระบบประกันสุขภาพจะไม่ไยดี “เพื่อนร่วมชาติ” เหล่านี้เลยหรือ
ส่วนกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพในอินโดฯ ก็ใช้จังหวะนี้ขยับตัวลงทุนเปิดกิจการคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนเพิ่ม เพื่อรองรับลูกค้าชนชั้นกลางที่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่ไม่ต้องการต่อคิวรอการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งแออัดไปด้วย “คนจน” รวมถึงหวังจะดึงดูดลูกค้าชาวอินโดฯ ที่มีฐานะร่ำรวยราว 1.5 ล้านคน ซึ่งมักจะบินไปเข้า รพ.เมืองนอก ให้กลับมาใช้บริการ รพ.ในประเทศ ซึ่งแง่หนึ่งคงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในระยะยาวก็คงทำให้เกิดภาวะ “สมองไหล” ที่แพทย์ของรัฐหนีไปทำงานให้เอกชนกันหมด เพราะได้เงินเดือนและสวัสดิการดีกว่า เมื่อนั้นคนไข้ รพ.รัฐก็จะเข้าสู่วังวนเดิมๆ ที่ต้องอดทนกับทรัพยากรและบริการที่กะพร่องกะแพร่ง
เป็นปัญหา “งูกินหาง” ไม่ต่างจากระบบสาธารณสุขบ้านเรานัก
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 22 พฤษภาคม 2556
- 36 views