หลังมีประเด็นการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญชั้นแปรญัตติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นการพิจารณาในวาระที่ 2 ซึ่งส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอแปรญัตติในมาตรา 8 ที่เกี่ยวกับโครงสร้างคณะกรรมการประกันสังคม โดยได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานบอร์ดสปส.และให้ปลัดกระทรวงแรงงาน, ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงบประมาณ เลขาธิการประกันสังคม เป็นกรรมการและเลขานุการ
ถือเป็นการรื้อโครงสร้างของบอร์ดสปส.ที่เอื้อให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีอำนาจบริหารจัดการในกองทุนประกันสังคมแบบเบ็ดเสร็จ เพราะเมื่อดูในเงื่อนไขอื่นๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่มาของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง แม้จะมาจากการเลือกตั้งซึ่งเพิ่มอีกเป็นฝ่ายละ 7 คน แต่สุดท้ายก็ต้องให้รัฐมนตรีแรงงานเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และยังสามารถแต่งตั้งที่ปรึกษาได้อีก 7 คน
คร่าวๆ จะเห็นภาพของบอร์ดเป็นลักษณะไตรภาคี 3 ฝ่ายเหมือนเดิม แต่ถ้าประธานบอร์ดเป็นรัฐมนตรีมานั่งก็เท่ากับว่ามีฝ่ายการเมืองเข้ามาอยู่ในบอร์ดด้วย เท่ากับเป็น 4 ฝ่าย จึงเป็นคำถามตามว่า ในการพิจารณาของบอร์ดสปส.ที่ไม่ใช่ 3 ฝ่าย จะเป็นอย่างไร
คงต้องบอกว่าความพยายามของฝ่ายการเมืองในการที่จะเข้าไปมีบทบาทในบอร์ดประกันสังคมนั้นมีมานานแล้ว แต่ก็ถูกสกัดด้วยข้อกฎหมายของประกันสังคมที่เป็นเกราะป้องกัน ประเด็นนี้ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ออกมาชี้แจงว่าเป็นเจตนาที่ดี เนื่องจากจะทำให้นักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรีจะเข้าผลักดันให้สปส.ดำเนินโครงการและปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม นอกจากนี้ จะทำให้รัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับการดำเนินงานในทุกๆ เรื่องของสปส.โดยไม่สามารถปฏิเสธหรือลอยตัวต่อความเสียหายเกิดขึ้น เพราะเกือบ 2 ปีที่รู้สึกอึดอัดกับการกำกับดูแลสปส.ซึ่งทำได้แค่มอบนโยบายเท่านั้น
ส่วนกรณีที่เกรงว่ารัฐมนตรีจะเข้าไปแทรกแซงการทำงานบอร์ดสปส.นั้น รมว.แรงงานบอกว่า เรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐมนตรีมีเพียงเสียงเดียว แต่บอร์ดสปส.อยู่ในรูปแบบคณะกรรมการไตรภาคี ถ้าเสนอในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็คงจะไม่รับความเห็นชอบจากบอร์ด
อย่างไรก็ตามเสียงสะท้อนจากฝั่งลูกจ้างที่ออกมาคัดค้านอย่างชัดเจน โดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แสดงความไม่เห็นด้วยที่จะให้รมว.แรงงานเป็นประธานบอร์ดสปส.เพราะถือเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐมนตรีแบบเบ็ดเสร็จ ในการสั่งการได้เต็มที่ ทำให้การบริหารจัดการทั้งหมดอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว และไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ หากมีความผิดพลาดผลกระทบจะเกิดขึ้นแก่ผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคน ซึ่งกองทุนมีเงินกว่า 1 ล้านล้านบาทที่อาจมองเห็นว่าเป็นขุมทรัพย์ เครื่องมือสนองนโยบายทางการเมือง
ประเด็นนี้รัฐบาลและคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ควรเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นและทบทวนเพื่อให้ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมที่แก้ไขใหม่มีเนื้อหาสาระสำคัญที่เป็นความก้าวหน้า ทำให้เกิดระบบบริหารจัดการที่ดี ตามหลักธรรมาภิบาล และเกิดความโปร่งใส ปลอดจากการแทรกแซงเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนอย่างแท้จริง
แม้แต่ด้านนักวิชาการ อย่าง ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิชาการประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองเรื่องนี้ว่าเป็นความตั้งใจของฝ่ายการเมืองที่อยากก้าวเข้ามามีอำนาจโดยไม่ต้องผ่านปลัดกระทรวงแรงงานอีกต่อไป การบริหารจัดการทุกอย่างที่จะขึ้นตรงกับฝ่ายการเมือง หากขาดหลักในเรื่องการถ่วงดุล ตรวจสอบ ความโปร่งใสแล้ว ก็จะกระทบต่อหลักธรรมาภิบาลได้
จากนี้คงต้องจับตาการเสนอแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ของฝั่งรัฐบาลต่อไปว่าจะมีเซอร์ไพรส์ในประเด็นอื่นๆ ที่ผู้ประกันตน 10 ล้านคน คาดไม่ถึงอีกหรือไม่ .....
ผู้เขียน : ทนงศักดิ์ วัฒนบวรกุล email : thanong12@hotmail.com
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556
- 4 views