เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่มี นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน มีมติปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ. ด้วยข้อหาร้ายแรง 3 ข้อหา คือ จงใจทำให้ผู้ว่าจ้างเสียหายประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงและฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบวินัย ขัดขืนคำสั่งโดยบอร์ดมีเสียงเอกฉันท์ ซึ่งก่อนหน้าการประชุม 1 วัน มีรายงานข่าวว่า อธิบดีหลายกรมในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถูกสั่งห้ามเดินทางต่างประเทศจนกว่าจะประชุมเสร็จ

ในวันประชุม เกือบ 15.00 น. นพ.สุพรรณศรีธรรมมา รองปลัด สธ. รีบเดินทางกลับมาจากสุราษฎร์ธานี ต้องกึ่งวิ่งกึ่งเดินเข้าห้องประชุมให้ทันในเวลา แล้วอีกครึ่งชั่วโมงต่อมาบอร์ดเปิดการแถลงข่าวปลดดังกล่าว

เท่าที่ทราบ ในวาระดังกล่าว ไม่มีการรายงานผลการสอบสวนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงการให้ นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบโรงงานวัคซีนและ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบวัตถุดิบยาพาราฯ ชี้แจงทางวาจาเท่านั้น ซึ่งข้อสรุปของการสอบสวนยังไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ที่ประชุมดังกล่าวยังแต่งตั้ง ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รองผู้อำนวยการ อภ. ให้เป็นรักษาการผู้อำนวยการ อภ. ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองจัดซื้อยา 2 ภญ.พิศมร เคยถูกสอบสวนเรื่องทุจริตยา1,400 ล้านบาท แต่นพ.พิพัฒน์ ประธานบอร์ด กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเก่าและเกิดขึ้นมาแล้วกว่า14 ปี ภญ.พิศมร ถูกตักเตือนและลงโทษสถานเบา ดังนั้นประเด็นนี้จึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันบอร์ด อภ.ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมอย่างรอบคอบแล้ว อีกทั้ง ภญ.พิศมร ก็จะเกษียณในเดือน ก.ย.นี้แล้ว

คดีทุจริตยา 1,400 ล้านบาท เมื่อปี2541 นั้น มีนักการเมืองถูกจำคุก 2 คน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รักเกียรติ สุขธนะ)และที่ปรึกษารัฐมนตรี (จิรายุ จรัสเสถียร)ข้าราชการประจำต้องถูกลงโทษไล่ออกไปถึง 7 คน ฯลฯ นั้น มีรูปแบบการทุจริตใน 3 ลักษณะคือ 1.การซื้อผ่านบริษัทที่อยู่ในลิสต์ของนักการเมือง แล้วบริษัทเหล่านี้จะโอนเงิน 20%มาให้นักการเมือง 2.โรงพยาบาลจัดซื้อเอง ซื้อกับบริษัทใดก็ได้ แล้วโรงพยาบาลโอนเงิน 20%มาให้นักการเมือง และ 3 คือ การซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม ซึ่งจะไปซื้อกับบริษัทตามรายชื่อแล้วโอนเงิน 20% ให้นักการเมือง

จากเอกสารรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนชุดที่มี อาลัย อิงคะวณิช รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นประธาน ระบุถึงการทุจริตในรูปแบบที่ 3 ว่า

"กรณีดังกล่าว ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากระบบการสั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์ และวัสดุการแพทย์จึงมีมูลค่ามหาศาล และเสมือนว่าเป็นการซื้อโดยสุจริต เพราะซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่โดยแท้จริงแล้ว คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า ก็เป็นการซื้อไม่สุจริต ซื้อในราคาที่แพงกว่าที่ควรจะซื้อได้อยู่มาก

โดยอาศัยองค์การเภสัชกรรมเป็นเกราะกำบังเจตนาอันไม่สุจริตนั้น ในขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรมก็มิได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติในเรื่องนี้แม้แต่น้อย เนื่องจากยิ่งมีการซื้อยาเวชภัณฑ์และวัสดุการแพทย์ราคาแพงมากเท่าใด องค์การเภสัชกรรมก็จะได้ค่าบริการเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น"

ในรายงานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในคดีทุจริตยา 1,400 ล้านบาท จนกระทั่งสามารถเอาผิดรัฐมนตรี สธ.ในขณะนั้นได้ พบการซื้อยาและเวชภัณฑ์ราคาแพงผ่านองค์การเภสัชกรรมที่อาจเป็นการจงใจตามข้อสรุปดังกล่าวเกิดขึ้นใน 34 จังหวัด

คิดเฉพาะค่ายาและเวชภัณฑ์เฉพาะที่มีวงเงินจัดซื้อตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไปรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 294,663,700 บาท (ไม่นับรวมรายการย่อยและรายการที่มีหน่วยงานต่างๆ สั่งซื้อโดยตรง) และเป็นตัวเลขหลังจากที่มีการเปิดโปงทุจริตจนมีการระงับการสั่งซื้อหรือส่งคืนยาและเวชภัณฑ์จำนวนมาก

รายงานดังกล่าวยังได้สรุปถึงพฤติกรรมของผู้รับผิดชอบในเรื่องการจัดซื้อขององค์การเภสัชกรรมในขณะนั้นว่า

"ละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2524 ข้อ 19 และข้ออื่นๆจัดซื้อพัสดุโดยไม่คำนึงถึงราคาพัสดุซึ่งเคยซื้อมาก่อน จนทำให้เกิดเหตุการณ์พัสดุอย่างเดียวกัน บริษัทผู้ขายรายเดียวกัน ซื้อในช่วงเวลาเดียวกัน ราคาแตกต่างกันมากและเป็นราคาแพงมากผิดปกติ

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ประสานแจ้งส่วนต่างๆในองค์การฯ ว่าผู้ขายรายใด จะจัดส่งสินค้าโดยตรง ซึ่งอ้างว่าได้รับแจ้งรายชื่อผู้ขายที่จะส่งสินค้าตรงไปจังหวัดจากเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชารายงานมาให้ทราบ

เมื่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯได้เชิญเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกระบุชื่อรายดังกล่าวมาให้ถ้อยคำในทันที ได้ให้การว่า ไม่เคยรายงานรายชื่อผู้ขายที่จะส่งสินค้าตรงไปจังหวัดให้ผู้อำนวยการกองจัดซื้อ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาแต่อย่างใด และตนเองก็ไม่ใช่หน้าที่และไม่เคยได้รับมอบหมายให้ดำเนินการติดต่อสอบถามผู้ขายในเรื่องดังกล่าวด้วย"

กรณีทุจริตยาในครั้งนั้นแสดงให้เห็นว่า องค์การเภสัชกรรมนั้น เป็นหน่วยงานสำคัญในการจัดหาและผลิตยาเพื่อความมั่นคงของประเทศ การใช้ศักยภาพและประสิทธิภาพขององค์การเภสัชกรรมอย่างเต็มที่ สามารถอำนวยประโยชน์แก่ประเทศอย่างมหาศาล

ทั้งการจัดหายาและเวชภัณฑ์คุณภาพดีราคาถูก เป็นตัวอ้างอิงเพื่อต่อรองราคายากับบริษัทยาต่างๆ เป็นกำลังหลักในการจัดหายากำพร้าที่มีผู้ผลิตน้อยรายเพราะไม่ทำกำไร ในทางกลับกัน ถ้ารู้เส้นสนกลในและข้อบังคับต่างๆ ของเจ้าหน้าที่บางคนก็สามารถทำให้หน่วยงานนี้เป็นเครื่องมือที่เอื้อการทุจริตจากเงินงบประมาณแผ่นดินได้อย่างเนียนๆ เช่นกัน

พึงตระหนักว่าค่าคอมมิชชั่นในปัจจุบันพุ่งสูงถึง 30-35% ไม่ใช่แค่ 20% อย่างเมื่อ15 ปีอีกแล้ว

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติของผู้บริหาร สธ. ทั้งนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง พร้อมกับการปล่อยข่าวทำลายชื่อเสียงอภ. ทำลายชื่อเสียงของนพ.วิทิต และทำลายความเชื่อมั่นในยาชื่อสามัญอย่างต่อเนื่องคำถามคือ ใครคือผู้ได้รับประโยชน์

มีเพียงบริษัทยาข้ามชาติที่กำไรหดหายจากการพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม บริษัทวัคซีนที่ไม่ต้องการเห็นไทยพึ่งตัวเองได้ กลุ่มแพทย์พาณิชย์ที่หวังแสวงหากำไร และนักธุรกิจที่หวังทำกำไรจากการแปรรูปองค์การเภสัชกรรมเท่านั้นที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรง...ขณะที่สังคมโดยรวมคือผู้พ่ายแพ้ ใช่หรือไม่?

การเปลี่ยนแปลงในองค์กรแห่งนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์

กรณีทุจริตยาในครั้งนั้นแสดงให้เห็นว่าองค์การเภสัชกรรมนั้น เป็นหน่วยงานสำคัญในการจัดหาและผลิตยาเพื่อความมั่นคงของประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556