กระทรวงสาธารณสุข ประชุมวอร์รูมติดตามเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก พบผู้ป่วยใหม่ทั่วประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่องเพิ่ม 2,000 กว่ารายต่อสัปดาห์ ภาพรวมจนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมทุกวัยรวม 30,886 ราย เสียชีวิต 36 ราย เร่งทุกพื้นที่กำจัดลูกน้ำจริงจัง ไม่เว้นแม้พืชใบกาบ กำชับทีมแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลทั่วประเทศพร้อมรับมือคาดจะมีมากขึ้น เพราะเข้าสู่ฤดูกาลระบาดหนัก ป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด พร้อมเน้นประชาชนทุกกลุ่มวัย หากมีไข้สูงเกิน 2 วัน ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ ให้คิดถึงอาจเป็นไข้เลือดออก รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 70 ไปพบแพทย์ช้า
นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ไข้เลือดออกในประเทศไทยขณะนี้ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ฤดูกาลระบาดหนักของโรคไข้เลือดออก เนื่องจากเป็นฤดูฝน มีแหล่งน้ำสะอาดให้ยุงลายวางไข่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ปริมาณยุงลายตัวแก่จะเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงฤดูร้อนหลายเท่าตัว กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งทุกจังหวัดควบคุมป้องกัน และเปิดวอร์รูมติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต สถานการณ์ขณะนี้ ยังพบว่ามีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นทุกวัน สัปดาห์ละกว่า 2,000 ราย พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จึงกำชับให้ทุกพื้นที่เพิ่มความเข้มข้นในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ส่วนใหญ่พบลูกน้ำในภาชนะบรรจุน้ำใช้ และในพื้นที่ภาคอีสานพบลูกน้ำอยู่ในกาบใบพืชด้วย เช่น กาบว่านหางจระเข้ ต้นกระเจียว ซึ่งช่วงนี้โรงเรียนต่างๆ เปิดเทอมแล้ว คาดว่าอาจมีการระบาดเพิ่มของไข้เลือดออกได้ เพราะยุงมีแหล่งดูดเลือดจำนวนมาก
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า เป้าหมายในการดำเนินการควบคุมโรคไข้เลือดออกในช่วงนี้ จะเน้นหนักที่โรงเรียน โดยได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการให้เร่งกำจัดยุงลายในทุกโรงเรียน และในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ จะเชิญผู้แทนจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเช่น มหาดไทย ศึกษาธิการ ประชุมเพื่อร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะการกำจัดยุงทั้งลูกน้ำและตัวแก่ที่บินได้ เพื่อลดจำนวนผู้เจ็บป่วยทุกกลุ่มวัย ทั้งนี้จากรายงานสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 มีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมทั้ง 77 จังหวัดรวม 30,886 ราย เสียชีวิต 36 ราย กว่าร้อยละ 50 เป็นเด็กวัยเรียน ประกอบด้วย ภาคกลางป่วย 9,374 ราย เสียชีวิต 9 ราย ภาคใต้ป่วย 8,391 ราย เสียชีวิต 13 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วย 8,162 ราย เสียชีวิต 8 ราย และภาคเหนือป่วย 4,959 ราย เสียชีวิต 7 ราย แนวโน้มพบผู้ป่วยมากขึ้นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปี 2555 กว่า 3 เท่าตัว
นายแพทย์โสภณกล่าวว่า ในส่วนของการดูแลผู้ป่วย ได้กำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง พร้อมให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง และจัดทีมแพทย์เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแก่แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลส่วนภูมิภาคด้วย ให้กรมการแพทย์จัดอบรมแพทย์ทั้งแพทย์ดูแลเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อฟื้นฟูองค์ความรู้ ให้มีความชำนาญและแม่นยำในการวินิจฉัยผู้ป่วย และให้อาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม.ออกสำรวจ และกระตุ้นให้ประชาชนกำจัดลูกน้ำในบ้านและชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่พบผู้ป่วยขอให้ดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่ในหมู่บ้านเพิ่มอีก ซึ่งเรื่องกำจัดยุงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องร่วมมือร่วมใจกัน เพราะเป็นการสร้างความปลอดภัยให้คนในครอบครัว หากพบภาชนะใดมีลูกน้ำให้กำจัดทันที อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สำคัญ
“ปัญหาที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ ก็คือ ผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกมักจะชะล่าใจ คิดว่าโรคไข้เลือดออกจะเป็นเฉพาะในเด็ก เมื่อเป็นไข้มักจะคิดไปเองว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา และหาซื้อยากินเองจนทำให้อาการรุนแรง เพราะโรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ และยาปฏิชีวนะใช้ฆ่าเชื้อชนิดนี้ไม่ได้ จะไปพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการหนักหรืออาการรุนแรงมากขึ้น จึงขอย้ำเตือนประชาชนทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หากเป็นไข้และมีอาการหนึ่งอาการใดดังต่อไปนี้คือ เป็นไข้แล้วไข้ไม่ลดภายใน 2 วัน หรือมีอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไม่มีอาการไอและน้ำมูก ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออก และให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต ซึ่งจากการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต พบว่ากว่าร้อยละ 70 ไปพบแพทย์ช้า ทำให้อวัยวะภายในต่างๆเกิดปัญหาเลือดออก” นายแพทย์โสภณกล่าว
ด้านนายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนายการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวว่าผู้ที่นอนในเวลากลางวัน เช่น ผู้ที่ทำงานเป็นกะ หรือผู้ที่ต้องอยู่เวรกลางคืน ขอให้นอนในมุ้ง หรือในห้องที่มีมุ้งลวดมิดชิด เนื่องจากยุงลายออกหากินกลางวัน เลือดที่ยุงกินเข้าไปจะไปบำรุงไข่ยุง และยุงลายวางไข่ในน้ำสะอาดที่ขังนิ่ง ฉะนั้นจึงต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัดทุกวิถีทาง อาจทายากันยุง และขณะเดียวกันให้ทำลายลูกน้ำยุงลายโดยการเทน้ำทิ้งจากภาชนะ ไม่ให้ใช้วิธีเติมน้ำใหม่ เนื่องจากอาจมีไข่ยุงเกาะอยู่ข้างภาชนะหรือมีลูกน้ำอยู่ในภาชนะ และเติบโตต่อไปได้
- 3 views