ภาคประชาชนโอดรัฐบาลไม่ใส่ใจแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ "บวรศักดิ์" แนะรัฐอุ้มคนที่อ่อนแอกว่าในสังคม ใช้มาตรการภาษีลดช่องระหว่าง “คนที่ไม่มี” กับ “คนที่มั่งมี”
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือ คปก. จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “สองปี คปก. กับการปฏิรูปกฎหมาย สร้างความเป็นธรรมขจัดความเหลื่อมล้ำ” เมื่อวันที่ 15 พ.ค. เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในการปฏิรูปกฎหมาย อีกทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทัศนะของนักวิชาการและตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายของสังคมไทย
นางจินตนา แก้วขาว ผู้แทนกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด กล่าวว่า ประชาชนรากหญ้าเองไม่มีส่วนร่วมในการเรื่องของการปฏิรูปหรือผลักดันกฎหมายภาคประชาชนอย่างแท้จริง ในขณะที่ผู้ที่เป็นผู้ออกกฎหมายนั้นเป็นบุคคลอีกชนชั้นหนึ่งซึ่งไม่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากการออกกฎหมายอย่างที่ภาคประชาชนต้องเผชิญอยู่ อันเนื่องมาจากกระบวนการต่าง ๆ ของทางภาครัฐนั้น ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนได้เข้าถึงกฎหมายอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าในทางกฎหมายนั้น กฎหมายรัฐธรรมนูญได้บัญญัติสิทธิของประชาชนเอาไว้อย่างชัดเจนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอาจไม่มีอยู่จริง
นางจินตนา กล่าวอีกว่า ข้อเสนอของทาง คปก. นั้นไม่ค่อยได้รับความสนใจจากทางรัฐบาลเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อส่งเรื่องไปนั้น เหมือนกับว่าเรื่องไปอยู่แค่ข้างรัฐสภาเท่านั้น ซึ่งหน้าที่ที่ คปก. จะต้องคิดก็คือ การทำอย่างไรให้รัฐบาลยอมรับฟังความคิดเห็นของ คปก. และภาคประชาชนบ้าง เพราะเนื่องจากคนที่เดือดร้อนจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือจากกฎหมายที่มีอยู่นั้นคือประชาชน ไม่ใช่รัฐบาล ซึ่งหลายเรื่องของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่เสนอแนะเข้าไปเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขนั้น มีน้อยมากที่จะผ่าน กฎหมายหลายตัวที่มาจากการบังคับใช้กฎหมายก็ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนและได้รับผลกระทบ เพราะมีช่องว่างระหว่างประชาชนเกิดขึ้น อย่างเช่น ในลักษณะของการประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดีความนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวนมากในการประกันตัว ซึ่งไม่มีทางที่ชาวบ้านจะสามารถหามาเพื่อใช้สู้คดีความได้ จึงทำให้ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่ามักจะเป็นผู้ที่ชนะคดีเสมอ ส่วนทางด้านรัฐบาลเองนั้นหากสิ่งใดที่มีประโยชน์กับทางรัฐบาลหรือนักการเมืองก็จะทำ แต่หากสิ่งใดที่ไม่มีประโยชน์ก็ไม่ทำ เพราะในส่วนของรัฐบาลเองไมได้เดือดร้อนจากการถูกบังคับใช้กฎหมาย
“เวลารัฐบาลจะใช้กฎหมาย รัฐบาลเองก็ซิกแซกเก่งมาก อย่างเช่น พระราชบัญญัติน้ำสามแสนห้าหมื่นล้านก็ซิกแซกจนผ่าน แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนกลับล่าช้า ” นางจินตนากล่าว
สอดคล้องกับ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวว่า ความเห็นของ คปก. ที่นำเสนอไปนั้น สภานำไปพิจารณาเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น และข้อเสนอส่วนใหญ่ที่รัฐบาลนำเอาไปก็ล้วนแต่เป็นข้อเสนอที่ตรงกับความคิดเห็นของรัฐบาลอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้นในการนำเสนอจึงควรต้องระมัดระวังในการที่รัฐบาลจะเอาไปอ้าง และเป็นการผิดวัตถุประสงค์ที่แท้จริง
ศ.บวรศักดิ์ เสนอว่า รัฐบาลเองจะต้องลงไปอุ้มคนที่อ่อนแอกว่าในสังคม ในด้านต่าง ๆ กัน เพราะว่าในสังคมนั้นยังมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นอยู่ระหว่าง “คนที่ไม่มี” กับ “คนที่มั่งมี” อยู่มาก ซึ่งอาจทำได้โดยการปฏิรูประบบภาษี เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่ใช่แค่การลดภาษีบางอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ผู้มีรายได้สูงเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องดำเนินการอย่างค่อนเป็นค่อยไป
ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ให้คำตอบถึงเรื่องนี้ว่า ประชาชนมีสิทธิในการเสนอกฎหมาย แต่รัฐบาลเองก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธได้เช่นกัน โดยได้แสดงตัวอย่างข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของประชาชน ในด้านของการเข้าถึงบริการสาธารณสุขระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มเติมด้วย ซึ่งพบว่า กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงคนละ 2,755 บาท/คน/ปี ส่วนกองทุนประกันสังคม ประชาชนเข้าถึงคนละ 2,500 บาท/คน/ปี ขณะเดียวกันนั้นกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กลับได้ถึงคนละ 15,000 บาท/คน/ปี คิดเป็นงบประมาณที่สูงถึง 60,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจน
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงเรื่องของการพิจารณากฎหมายว่า ไม่ว่าจะพิจารณากฎหมายฉบับใดก็ตาม จะต้องมีการเชิญกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามา เพราะเนื่องจากเป็นเจ้าของกฎหมายที่ใช้ และเพื่อเป็นประโยชน์ในการที่ให้คณะกรรมาธิการได้ซักถามและสรุปประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากผู้ใช้กฎหมายย่อมรู้ว่าอะไรที่เป็นปัญหา
ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาปาฐกถาพิเศษแทนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้กล่าวถึงการปฏิรูปกฎหมายว่า ในการปฏิรูปกฎหมายนั้น จะใช้แต่มุมมองของนักนิติศาสตร์อย่างเดียวนั้น ทำไม่ได้ แต่จำเป็นต้องใช้ศาสตร์อื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น นักรัฐศาสตร์ เป็นต้น เพราะนักนิติศาสตร์เองคงไม่มีความเชี่ยวชาญในทุกเรื่อง เพราะการตรากฎหมายนั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของกฎหมายเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังกล่าวอีกว่า กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถส่งเสริมให้คนไทยก้าวหน้าได้ แต่ในขณะเดียวกัน กฎหมายเองก็สามารถกีดกั้นความก้าวหน้าของสังคมได้เช่นกัน
นอกจากนี้ นายพงศ์เทพยังกล่าวให้กำลังใจแก่ คปก. ในการทำหน้าที่ปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยาก เพราะกว่าที่กฎหมายจะออกมาได้นั้น ต้องใช้เวลา และยังมีขั้นตอนในการบริหารงานภายใน ในการตอบสนองปัญหาประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้าอีกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 พฤษภาคม 2556
- 1 view