สธ.วางแผนครอบครัวแก้ปัญหาผู้สูงอายุล้นเมือง ตั้งเป้ามีลูกเฉลี่ยบ้านละ 2.1 คน หวังสร้างสมดุลโครงสร้างประชากร เล็งดึงชุมชนมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการเปิดประชุมระดับชาติ โครงการพัฒนารูปแบบบริการระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง รวมทั้งกลุ่มอายุอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลไทย ว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน จากรายงานการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดในปี 2554 พบว่ามีประชากรสูงอายุประมาณร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 9 ล้านคน และพบว่าผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มจากร้อยละ 10 ของประชากรสูงอายุทั้งหมดในปี 2543 เป็นร้อยละ 13 ในปี 2553 โดยอัตราเกิดของไทยลดลง หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปี 1 คน มีบุตรเฉลี่ย 1.5 คน ทำให้โครงสร้างประชากรไทยอยู่ในสภาวะไม่สมดุล สัดส่วนระหว่างผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กับเด็กทารก-14 ปี ลดลงอย่างรวดเร็วจาก 1: 2.56 ในปี 2543 เป็น 1: 1.49 ในปี 2553
นพ.ประดิษฐกล่าวว่า เพื่อรับมือกับปัญหานี้ ได้มียุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน 2 มาตรการ ดังนี้ ระยะสั้น เน้นการจัดบริการการดูแลระยะยาวโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ส่วนระยะยาว เน้นเพิ่มจำนวนบุตรเฉลี่ยของหญิงไทยจาก 1.5 เป็น 2.1 เพื่อให้โครงสร้างประชากรสมดุล ลดภาระครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุ และเน้นการส่งเสริม สุขภาพกายและจิตใจของผู้สูงอายุ ทั้งนี้ มอบหมายให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เป็นผู้อำนวยการโครงการ (Project Director) และ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ. เป็นผู้จัดการโครงการ (Project Manager)
ด้าน นพ.ณรงค์กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้สูงอายุกลุ่มที่ต้องพึ่งพิง ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 1 ล้านคน ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ต้องพึ่งพาคนอื่นเมื่อออกนอกบ้านประมาณร้อยละ 10 หรือ 900,000 คน และ 2.กลุ่มนอนติดเตียง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ประมาณร้อยละ 1 หรือ 90,000 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะไม่ต้องการการดูแลทางการแพทย์ แต่ต้องการการดูแลที่ต่อเนื่องตลอดอายุขัยจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ
"ปัจจุบันพบว่า ผู้สูงอายุเป็นภาระหนักของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวขนาดเล็ก ดังนั้น สธ.จึงต้องเตรียมความพร้อมด้านระบบบริการผู้สูงอายุ 2 กลุ่มนี้ โดยร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น ภาครัฐ เอกชน จัดระบบดูแลหลายด้านไปพร้อมๆ กัน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม นำร่องใน 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น เชียงราย สุราษฎร์ธานี นนทบุรี นครราชสีมา และกรุงเทพมหานคร ระยะเวลาดำเนินการปี 2556-2560 หากสำเร็จไทยจะเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงในประเทศอาเซียน" นพ.ณรงค์กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 16 พฤษภาคม 2556
- 3 views