เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวง อธิบดีทุกกรม ผู้ตรวจราชการเขตบริการสุขภาพ และสาธารณสุขนิเทศก์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายและตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า วันนี้เป็นการนำเสนอเรื่องการบริหารจัดการในการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และเพิ่มคุณภาพการให้บริการประชาชน ซึ่งมีประมาณ 10 เรื่อง ที่เป็นปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนในลำดับสูงสุดในขณะนี้ เช่น อุบัติเหตุ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงอันดับ 3 ประเทศ ปีละ 20,000-30,000 คนต่อปี โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน โรคมะเร็งต่างๆ เป็นต้น ในการปรับปรุงโครงสร้างดังกล่าว จะเน้น 4 ระบบ ได้แก่ 1.การปรับปรุงระบบการให้บริการ โดยเพิ่มคุณภาพบริการ คิวรอสั้นลง 2.การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน ประกอบด้วย ต้นทุนการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ โดยนำระบบการจัดซื้อยาร่วมกันในระดับเขตมาใช้ เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพและใช้ต้นทุนต่ำที่สุด และต้นทุนด้านบุคลากร ซึ่งไม่ได้ใช้วิธีลดจำนวนบุคลากรลง แต่จะเน้นการบริหารบุคลากรร่วมกันภายในเขตบริการสุขภาพ มีการจัดสรรบุคลากรจากหน่วยงานที่มีบุคลากรเหลือ ไปให้หน่วยที่ขาดแคลนหรือมีความต้องการเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับบริการดีขึ้น
3.การบริหารจัดการงบประมาณขาลงในปีงบประมาณ 2557 จะเป็นการทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยจัดบริการกับสปสช.ในฐานะผู้ซื้อ ภายใต้คณะอนุกรรมการการเงินและการคลัง ซึ่งมีดร.คณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ให้ข้อมูลการบริหารจัดการเงินไปยังเขตหรือจังหวัด การโอนเงินลงพื้นที่ยังเป็นหน้าที่ของสปสช.เช่นเดิม จะไม่มีการโอนเงินผ่านกระทรวงสาธารณสุขแต่อย่างใด และมีระบบการติดตามผลการทำงานตามตัวชี้วัด ทั้งด้านคุณภาพและประสิทธิภาพร่วมกัน และ4.แผนบริหารกำลังคนทั้งระบบของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งการผลิต การใช้ และการรักษากำลังคนไว้ในระบบ เนื่องจากมีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ โดยขณะนี้ร้อยละ 50 ของงบประมาณกระทรวงฯทั้งหมด เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร เพื่อให้ใช้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับทิศทางการจัดบริการประชาชน ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ ได้อนุมัติให้ผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเป็นปีละ 7,000 คน เป็นระยะเวลา 4 ปี
- 1 view