วันที่ 15 พฤษภาคม ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กว่า 30 คนรวมตัวกันเข้าพบเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เพื่อขอให้เร่งออกประกาศเริ่มรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ตามแนวทางการรักษาของประเทศ (เริ่มที่ CD4 350)
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ประกันสังคมไม่ได้ใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนเลย ทั้งที่แนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนไปแล้ว โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สมาคมโรคเอดส์ และคณะผู้เชี่ยวชาญการรักษาเอดส์ ประเทศไทย ปรับปรุงแนวทางการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ให้เริ่มรักษาผู้ติดเชื้อทุกรายที่มีระดับ CD4 350 เพราะเป็นแทวทางการรักษาที่เหมาะสม เมื่อได้ยาเร็ว รักษาเร็ว พี่น้องที่ติดเชื้อฯก็จะไม่ต้องป่วยจากโรคฉวยโอกาสที่จะร้ายแรงมากขึ้นเมื่อภูมิคุ้มกันต่ำลง
“ในช่วงที่ผ่านมา เครือข่ายได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องผู้ประกันที่ติดเชื้อฯว่า ยังไม่ได้รับยาต้านไวรัส แม้จะมี CD4 ที่ 230 แล้วก็ตาม เนื่องจากแพทย์ผู้รักษา อธิบายว่าประกันสังคมจะจ่ายยาต้านฯเมื่อ CD4 ต่ำกว่า 200 หรือ 250 ร่วมกับโรคฉวยโอกาสเท่านั้น นอกจากนี้ข้อร้องเรียนยังมีมาจากทุกภาคของประเทศว่า โรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคม ไม่จ่ายยาต้านฯ ตามแนวทางการรักษาของประเทศ เพราะว่ายังไม่มีประกาศฉบับใหม่ออกมา ต้องยึดถือตามประกาศเก่า ซึ่งล้าหลังและไม่ทันต่อสถานการณ์และข้อมูลใหม่ๆแล้ว นับถึงตอนนี้พบว่ายังมีพี่น้องผู้ประกันตนที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นกลุ่มเดียว ที่ได้รับการดูแลรักษาที่ต่ำกว่ามาตรฐานของประเทศ” อภิวัฒน์ กล่าว
นายนิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า พวกเราในฐานะผู้ประกันตนขอเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม เร่งแก้ไขและออกประกาศตามแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ตามแนวทางการรักษาของประเทศโดยเร็วที่สุด คือเริ่มการให้ยาต้านไวรัสที่ CD4 350 และ เพิ่ยาต้านไวรัสเอชไอวี Atazanair และ Darunavir โดยครอบคลุมทุกขนาดที่มีในบัญชียาของประกันสังคมตามแนวทางการรักษาของประเทศ ไว้ในบัญชียาของประกันสังคม
เลขาธิการชมรมฯ กล่าวต่อ นอกจากนี้ในประเด็นการลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก สำนักงานประกันสังคมเคยเขียนไว้ว่ารวมอยู่ในสิทธิประโยชน์เหมาจ่ายค่าคลอด ซึ่งในความเป็นจริง หากผู้ประกันตนหญิงติดเชื้อฯ ค่าใช้จ่ายในการลดการติดเชื้อฯจากแม่สู่ลูกจะสูง และมีแนวทางการดูแลของประเทศอยู่แล้ว เสนอสำนักงานประกันสังคมให้ประสานงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพเพื่อปลดล๊อค โดยให้ สปสช.รับผิดชอบสิทธิประโยชน์ กรณียาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก สำหรับผู้ประกันตนหญิงที่ตั้งครรภ์ และขอให้ปรับการใช้เกณท์ พิจารณากรณีที่ผู้ประกันตนที่มีภาวะดื้อยา ต้องปรับเปลี่ยนสูตรยา ให้ใช้ วิธีการขั้นตอนที่เป็นมาตราฐานเดียวกับ กองทุนอื่นอีกสองกองทุน
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวเพิ่มเติมว่า เครือข่ายผู้ใช้ยาและองค์กรที่ทำงานเพื่อลดอันตรายจากการใช้ยา มายื่นเรื่องต่อสำนักงานประกันสังคมเมื่อกันยายนปีที่แล้ว เรื่องขอให้พัฒนาสิทธิประโยชน์ ให้รวมการให้สารทดแทนเมธาโดน กับผู้บำบัดสารเสพติดจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
“แนวทางดังกล่าวเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพมาตั้งแต่ปี 2551 แต่ยังไม่เป็นสิทธิประโยชน์ของระบบบประกันสังคม ถือเป็นความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลของประเทศอย่างหนึ่ง
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาสิทธิประโยชน์หรือเงื่อนไขต่างๆของสำนักงาน ต้องผ่านการอนุมัติโดยคณะกรรมการไตรภาคี วันนี้ (15 พ.ค) ช่วงบ่ายจะมีการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ และจากนั้นจะนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมในการประชุมวันที่ 28 พ.ค. นี้ อาจจะต้องใช้ระยะเวลาการเสนอ แต่ไม่น่าจะใช้เวลานาน
ทั้งนี้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมรับปากว่า จะพยายามให้เกณฑ์การให้ยาต้านฯนี้ อนุมัติและประกาศใช้ให้เร็วที่สุด สำหรับการพัฒนาสิทธิประโยชน์ของการบัดทดแทนสารเสพติดด้วยเมธาโดน ทางสำนักงานกำลังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบและพัฒนา ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกมาก
- 3 views