เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งอยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ แปรญัตติ ซึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอแปรญัตติในมาตรา 8 เกี่ยวกับโครงสร้างคณะกรรมการประกันสังคม ให้ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน, ปลัดกระทรวงแรงงาน, ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงบประมาณ เลขาธิการประกันสังคม เป็นกรรมการและเลขานุการ ขณะที่มีผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 7 คน และสามารถตั้งที่ปรึกษาได้อีก 7 คน ว่า มีการเสนอประเด็นดังกล่าวจริง เพราะปัจจุบันการดำเนินการของคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่เคยรับทราบเรื่อง แต่เมื่อเกิดปัญหากลับต้องเข้าไปแก้ไข ดังนั้น จะต้องทำให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบปัญหารับทราบสาเหตุและเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย
"ที่เกรงว่ารัฐมนตรีจะเข้าไปแทรกแซงการทำงานของบอร์ด สปส. คงไม่สามารถทำได้ เพราะมีเพียงเสียงเดียว แต่บอร์ด สปส.อยู่ในรูปแบบคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานราชการฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน" นายเผดิมชัยกล่าว
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้าง เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับรัฐมนตรีแบบเบ็ดเสร็จ หากมีความผิดพลาดผลกระทบจะเกิดแก่ผู้ประกันตนกว่า 11 ล้านคน และกองทุนที่มีเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท อาจถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสนองนโยบายทางการเมือง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 15 พฤษภาคม 2556
- 4 views