เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเข้าพบ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานในวันแรงงานแห่งชาติ 11 ข้อ ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ข้อเรียกร้องบางข้อนั้นอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง นายกฯจึงได้มอบหมายให้ทางกระทรวงการคลังรับไปศึกษาและดำเนินงานต่อไป อาทิ การงดเว้นการเก็บภาษีเงินได้งวดสุดท้ายของลูกจ้าง ส่วนข้อเรียกร้องที่เกี่ยวเนื่องกับกระทรวงแรงงานนั้น ได้มีการดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง เช่น ศูนย์เก็บนมแม่และศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ โดยจะเร่งขยายไปสู่โรงงานที่มีจำนวนลูกจ้างมากกว่า 50 คนขึ้นไป รวมทั้งเรื่องการให้สิทธิแรงงานชายได้หยุดงานเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูก ที่กระทรวงได้ออกประกาศขอความร่วมมือ รวมไปถึงการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และเมื่อได้รับความเห็นชอบจะนำเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาผู้แทนราษฎร ต่อไป
นายเผดิมชัยกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้เป็นองค์กรอิสระนั้น ให้ สปส.หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาและศึกษาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ นายกฯยังได้สอบถามถึงเรื่องการขอลดการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 ปัจจุบันต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนร้อยละ 8 ของเงินเดือนอัตราเดิมว่าจะสามารถลดต่ำกว่านี้ได้หรือไม่ ได้ชี้แจงไปว่าได้ให้ สปส.ไปศึกษาว่าทำได้หรือไม่ และลดในอัตราเท่าใดจึงเหมาะสม
"นายกฯยังได้สอบถามผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทั่วประเทศ ได้ชี้แจงว่ามีสถานประกอบการถึงขั้นที่ต้องปิดกิจการและแรงงานถูกเลิกจ้างไม่มาก นายกฯกำชับให้ทางกระทรวงแรงงานดูแลและรักษาแรงงานไว้ในระบบ รวมทั้งให้เร่งหาตำแหน่งงานใหม่ให้" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว และว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สั่งการให้สำรวจผลกระทบจากปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัว โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจส่งออกว่าเป็นอย่างไร ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไปดำเนินการ รวมทั้งให้สรุปข้อมูลส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาบูรณาการแก้ปัญหา" นายเผดิมชัยกล่าว
--มติชน ฉบับวันที่ 10 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 2 views