หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนคดีการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ด อภ. ที่เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) และมาตรา 157 กฎหมายอาญา ดูเหมือนบรรยากาศจะยิ่งร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ
นั่นเพราะ "นพ.วิทิต" พร้อมด้วยทนายความออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว ทั้งที่ไม่เคยออกตัวเรื่องนี้มาก่อน โดยตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำของดีเอสไอ เป็นการปิดโอกาสไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าชี้แจง ทั้งๆ ที่ได้กำหนดวันนัดหมายเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมในวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 ถือว่าเรื่องนี้ไม่มีความเป็นธรรม ขณะเดียวกันการกระทำดังกล่าวยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรภาพรวม ส่วนที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ออกมาพูดว่าการส่งสำนวนครั้งนี้มีการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรของ นพ.วิทิตในประเด็นการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราฯ ซึ่งถือว่าเพียงพอในชั้นสืบสวน ส่วนการนัดหมายให้ข้อมูลเพิ่มเติมนั้นเป็นเรื่องความล่าช้าของโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก คนละประเด็นกัน!
งานนี้เอ็นจีโอด้านสาธารณสุข รวมทั้งนักวิชาการเภสัชศาสตร์ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) และหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามว่า การเดินเรื่องตั้งแต่ต้นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้เลขานุการส่วนตัวชงเรื่องให้ดีเอสไอตรวจสอบเรื่องนี้ รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ มี นัยยะแอบแฝงเหมือนที่หลายฝ่ายกังวลหรือไม่
โดยมองว่า ประเด็นยาพาราฯอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่าจะมีการตั้งข้อสงสัยในเรื่องการผลิตยาอื่นๆ อีก เพราะการให้ข่าวในทำนองที่สื่อออกมาว่า อภ.บริหารงานไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ทั้งการเตรียมการนำยาใกล้หมดอายุในเรื่องของยาโคลพิโดเกรล (Clopidogral) ซึ่งเป็นยาโรคหัวใจ โดยก่อนหน้านี้ อภ.เสนอให้บริจาค ซึ่งบอร์ด อภ.ไม่เห็นด้วย จนสุดท้ายผู้อำนวยการ อภ.เตรียมจะส่งคืนให้บริษัทต้น หรือแม้แต่มีกรณีการสำรองยาโอเซลทามีเวียร์ หรือยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ในช่วงระบาดไข้หวัดนก 2009 แต่ไม่มีการผลิต ทั้งหมดหลายฝ่ายมองว่าการให้ข่าวทำนองนี้ถูกต้องตามหลัก ธรรมาภิบาลหรือไม่
ร้อนถึง ศ.ภญ.กาญจน์พิมล ฤทธิเดช ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ รศ.ดร.ภก.สาธิต พุทธิพิพัฒน์ขจร ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่างมองว่า การออกมาพูดทำนองนี้อาจเกิดความเข้าใจผิดว่ายาที่ผลิตโดย อภ. ไม่มีคุณภาพ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ใช่ เนื่องจากในระบบการผลิตยาจะต้องมีคุณภาพการรับรองที่ได้รับมาตรฐาน โดยเฉพาะหากยาใกล้หมดอายุก็ต้องพิจารณาถึงสารสำคัญ โดยจะมีการนำมาทดสอบซ้ำ หากผ่านคุณภาพที่กำหนดจึงจะนำมาผลิตเป็นยาออกจำหน่ายได้ ซึ่งหากผลิตเป็นยาแล้ว กำหนดอายุการใช้งานจะเป็นไปตามปกติของยานั้นๆ
ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า เรื่องนี้ส่งผลต่อภาพความน่าเชื่อถือของ อภ.เป็นแน่ ซึ่งตรงนี้ต้องฟื้นความน่าเชื่อถือกลับมา แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือ เรื่องการตรวจสอบโรงงานวัคซีนฯยังไม่แล้วเสร็จ และเดาใจไม่ถูกว่า จะออกมาในรูปแบบเดียวกับประเด็นยาพาราฯหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คิดว่าเรื่องนี้มีนัยยะต้องการเปลี่ยนผู้อำนวยการ อภ.เป็นแน่ และสุดท้ายคงเป็นเช่นนั้น ส่วนเรื่องการสอบสวนที่ไปสู่ ป.ป.ช.ก็คงต้องต่อสู้หาข้อเท็จจริงต่อไป
เหลือเพียง ป.ป.ช.จะรับเรื่องและสรุปออกมาอย่างไร ขณะเดียวกันประเด็นโรงงานวัคซีนฯ ก็ยังไม่สิ้นสุด งานนี้ อภ.เจอวิกฤตจริงๆ
ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcat_2927@hotmail.com
--มติชน ฉบับวันที่ 8 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 37 views