ประเทศไทยในปัจจุบันมีความต้องการแรงงานในปริมาณที่สูง โดยเฉพาะแรงงานในภาคเกษตรกรรม และงานในระดับล่าง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีความต้องการแรงงานต่างด้าวในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อเป็นแรงงานทดแทน เช่น กรรมกรแบกหาม แม่บ้าน ยาม คนทำความสะอาด ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันมีแรงงานในภาคส่วนนี้กว่า 3 ล้านคน (กรมการจัดหางาน สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว 2553) ซึ่งเป็นแรงงานที่เข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมาย และผิดกฎหมาย

ในปี 2549 ถึง ปี 2553 พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วจำนวนคนต่างด้าวมีจำนวนปีละ 1,053,602 คน แบ่งเป็นกลุ่มเข้าเมืองถูกกฎหมาย 221,146 คน คิดเป็นร้อยละ 21.73 และกลุ่มเข้าเมืองผิดกฎหมาย 832,456 คน คิดเป็นร้อยละ 78.27 ในส่วนของจังหวัดที่มีคนต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่กรุงเทพมหานคร จำนวน 329,097 คนลำดับที่สอง จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 124,849 คน และลำดับที่สาม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 68,371 คน

สาเหตุที่แรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาคือ1) ความไม่สงบภายในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่าที่มีปัญหาภายใน ทำให้ชนกลุ่มน้อย เช่น ไทใหญ่ กะเหรี่ยง อพยพเข้ามาทำงาน ในประเทศไทยจำนวนมาก

2) เศรษฐกิจของไทยที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เป็นปัจจัยดึงดูดที่สำคัญ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการจับกุมจากเจ้าหน้าที่และถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการก็ตาม (ศูนย์สารสนเทศยุทธศาสตร์ภาครัฐ สำนักงานสถิติแห่งชาติ มปป.)

3) ปัญหาขาดแคลนแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวสมัครใจทำงานที่แรงงานไทยไม่สนใจทำ โดยเฉพาะงานที่มีลักษณะเสี่ยง (Dangerous) หนัก (Difficult) และสกปรก (Dirty) ส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันในอัตราใกล้เคียงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย (วรางคณา อิ่มอุดม และคณะ 2554)

ในส่วนของผู้ประกอบการที่เลือกใช้แรงงานต่างด้าวเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับจำนวนแรงงานด้อยฝีมือที่เข้าสู่ตลาดมีจำนวนน้อยลงก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทยโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะจ้างแรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานเหล่านี้อดทนต่อสภาพการทำงาน (วรางคณา  อิ่มอุดม และคณะ 2554)

จากข้อมูลข้างต้นผมตั้งข้อสังเกตแนวโน้มแรงงานต่างด้าวในสังคมไทยได้หลายประการคือ

1) ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาประเทศไทยได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวด้วยมาตรการการส่งเสริมให้มีการนำเข้า เพื่อให้มีการจ้างแรงงาน ผู้ที่มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายให้มีการขึ้นทะเบียนและอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อนำไปสู่กระบวนการให้ถูกกฎหมาย (Legalization) และผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ในประเทศไทยได้

แต่การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของไทยไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากกฎระเบียบที่ขาดความยืดหยุ่นมีลักษณะของการควบคุม โดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติเป็นหลักมากกว่ามิติด้านเศรษฐกิจและมิติด้านความมั่นคงของมนุษย์ จะเห็นว่ามาตรการในการ ผ่อนผันมีการใช้มาอย่างต่อเนื่องโดยละเลยที่จะมีนโยบายในระยะยาว ทำให้แรงงานต่างด้าวไม่มีความมั่นคงในชีวิต และการทำงาน (โกสุมภ์  สายจันทร์ 2554)

2) ภาครัฐควรเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่และครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มพร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนแรงงานต่างด้าวที่แท้จริงสามารถนำไปวางแผนบริหารจัดการทั้งในด้านสวัสดิการสังคม ด้านสาธารณสุข ด้านความมั่นคง รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการประมาณการรายได้ส่งกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (วรางคณา อิ่มอุดม และคณะ 2554) การทราบจำนวนที่แน่นอนของแรงงานต่างด้าวจะทำให้ภาคส่วนต่างๆ กำหนดทิศทาง และนโยบายได้อย่างทันท่วงที

3) แรงงานต่างด้าวจำนวนมากเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง ทำให้การทำงานขาดความมั่นคงและต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ มีคุณภาพชีวิต ที่ต่ำ และบางครั้งนำมาสู่การเกิดอาชญากรรม  รัฐควรเปลี่ยนสถานะของคนกลุ่มนี้ให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะว่าแรงงานกลุ่มนี้ถือว่าเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของสังคมไทย

4) แรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในภาคส่วนต่างๆ แต่กลับพบว่าเขาเหล่านั้นมีสภาพการทำงาน คุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก และปัจจุบันรัฐไทยยังไม่มีมาตรการในการดูแลเรื่องการจ้างงาน และสวัสดิการสังคมให้คนกลุ่มนี้แต่อย่างใด

5) ประเทศไทยมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ทำให้เป็นแรงดึงดูดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น และในขณะเดียวกันผู้ประกอบการบางส่วนก็มีความต้องการแรงงานต่างด้าว เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในอนาคต

6) การที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคม เมื่อมีการทำผิดกฎหมายแล้วหลบหนี ยากแก่การติดตามตัว ซึ่งเกิดจากไม่มีมาตรการควบคุม หรือการระบุตัวตนที่แน่นอน

7) เราปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานต่างด้าวสัญชาติต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเรา และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเราอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เราจะทำอย่างไรให้เขา "มีตัวตน" "มีตำแหน่งแห่งที่" ในสังคมไทย และไม่เป็น "มนุษย์ล่องหน" ที่ไร้ตัวตนเช่นในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน มาตรการในการของภาครัฐ ยังมีข้อจำกัดในหลายมิติ ไม่มีทิศทางหรือนโยบายที่แน่นอน ทำให้ไม่สามารถแก้ไข และหามาตรการรองรับได้อย่างทันท่วงที นโยบายของรัฐต่อแรงงานต่างด้าวเป็นการแก้ไขปัญหาเป็นระยะๆ ไม่มีทิศทางและมาตรการในระยะยาว

หน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็หลากหลายทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ต่างมีแนวทางการทำงานเป็นการเฉพาะของหน่วยงาน เน้นด้านความมั่นคง โดยละเลยความเป็นมนุษย์ บางส่วนถูกกดขี่  เบียดบัง "แรงงานต่างด้าว" จึงเป็น "มนุษย์ล่องหน" ที่ไร้ตัวตนในสังคมไทย

หมายเหตุ : โครงการ "ชีวิตพลัดถิ่นกับการเป็นแรงงานข้ามรัฐ : กรณีศึกษาการเคลื่อนย้ายแรงงาน "สัญชาติพม่า" และ "สัญชาติลาว" ในประเทศไทย" สนับสนุนโดย แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 พฤษภาคม 2556