ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 รัฐบาลได้ประกาศลดความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับบริการรักษาอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของประชาชนคนไทย ภายใต้ชื่อ "เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น" งานนี้รัฐบาลจึงได้รับคะแนนความนิยมไม่ใช่น้อย เพราะโดยหลักการของแนวนโยบายดังกล่าว ต้องการช่วยชีวิตผู้คนให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

คำถามคือ จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา 1 ปี นโยบายดังกล่าวมีผลดีผลเสียอย่างไร? หรือเปิดช่องโหว่ให้ภาคเอกชนในการรับบริการผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้น เหมือนที่หลายฝ่ายกังวล เพราะจากตัวเลขผู้เข้ารับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่โรงพยาบาลเอกชนได้มีการบันทึกแจ้งขอรับค่าใช้จ่ายตามระบบทั้งสิ้น 22,453 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละ 1,871 ราย จากโรงพยาบาลที่ส่งข้อมูลทั้งสิ้น 245 แห่ง ของโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด โดยได้จ่ายเงินไปแล้วทั้งสิ้น 19,289 ราย เป็นเงิน 328,384,448 บาท

ปัญหาคือ โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งก็มี การเรียกเก็บผู้เข้ารับบริการ ทั้งๆ ที่บางครั้งอาจอยู่ในข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินก็เป็นได้ แต่โรงพยาบาลเอกชนให้เหตุผลว่า ผู้เข้ารับบริการไม่ได้อยู่ใน ข่ายของคำว่าเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งยังเป็นปัญหา ในเรื่องคำจำกัดความที่คาราคาซังมาตลอด ทำให้ขณะนี้ มีการฟ้องร้องกันระหว่างโรงพยาบาลและผู้รับบริการ 1 ราย ซึ่งเป็นข้าราชการ

นอกจากนี้ ปัญหาการเข้าถึงก็ยังถูกมองว่า ผู้เข้ารับบริการสิทธิสวัสดิการข้าราชการมีจำนวนมากกว่าสิทธิอื่นๆ หลายเท่า โดยตัวเลขพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555-วันที่ 31 มีนาคม 2556 พบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการให้บริการแก่ผู้ป่วยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และได้ทำการบันทึกส่งเข้าระบบทั้งสิ้น 22,453 ราย

เมื่อจำแนกตามสิทธิที่เข้ารับบริการพบว่า สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มีจำนวนสูงสุด 11,419 ราย ของการเข้ารับบริการทั้งหมด รองลงมาคือ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า 9,101 ราย สิทธิประกันสังคม 1,462 ราย สิทธิข้าราชการท้องถิ่น/รัฐวิสาหกิจ/อื่นๆ เข้ารับบริการอีก 471 ราย ซึ่งเมื่อพิจารณาการเข้าถึงบริการของประชาชนจำแนกตามสิทธิพบว่า สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการเข้าถึงบริการสูงสุด ในอัตรา 239 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้ารับบริการ 19 คนต่อประชากร 100,000 คน และค่าเฉลี่ยของประเทศ 34 คนต่อประชากร 100,000 คน

จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้คิดว่า นโยบายนี้รองรับสิทธิสวัสดิการข้าราชการมากเกินไปหรือไม่ ทั้งๆ ที่นโยบายนี้ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในทุกสิทธิ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีปัญหาในเรื่องการเรียกเก็บเงินจากภาคเอกชน ซึ่งในเรื่องคำจำกัดความก็ไม่ชัดเจน

หากจะสรุปปัญหาต่างๆ ประกอบด้วย 1.ประชาชนถูกเรียกเก็บเงิน พบว่าประชาชนจำนวนหนึ่งจะถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้ตรวจสอบข้อมูลที่ประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1330 ในช่วงเวลา 11 เดือน มีจำนวน 1,148 ราย ที่ร้องด้วยสาเหตุถูกเรียกเก็บเงิน ซึ่งพบว่ามี 150 ราย ที่เข้ารับบริการแล้วอาการไม่ฉุกเฉิน ซึ่งโรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้ ที่เหลืออีก 882 ราย หรือร้อยละ 85.47 ที่ตรวจสอบแล้วพบว่า อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามนิยาม ซึ่งโรงพยาบาลไม่ควรเรียกเก็บเงินจากประชาชน ปัญหาคือ ปัจจุบัน พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลไว้ จึงไม่มีข้อบัญญัติทางกฎหมายหรือบทลงโทษในการเรียกเก็บเงิน แต่ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดระบบสุขภาพว่า ควรปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับนโยบาย โดยมอบกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการ ซึ่งอาจปรับปรุงพ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ หรือ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 โดยอาจระบุโทษหากมีการเรียกเก็บเงิน

2.ระบบการประสานหาเตียงเคลื่อนย้าย เมื่อพ้นภาวะวิกฤตพบว่า จากข้อมูลการประสาน หาเตียงเคลื่อนย้ายเมื่อพ้นภาวะวิกฤต ยังไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะพื้นที่ ใน กทม. โดยจำนวนครั้งการประสานเฉลี่ยจนกระทั่งหาเตียงได้ 8 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 วัน และใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดภายในระยะเวลา 1 วัน โดยเฉพาะสิทธิข้าราชการซึ่งไม่มีหน่วยบริการประจำ ทำให้หาสถานพยาบาลรับรักษาต่อได้ ค่อนข้างยาก และใช้เวลาในการหาเตียงเฉลี่ย นานสุด คือ 3 วัน จึงทำให้โรงพยาบาลรับภาระ ค่าใช้จ่ายหรือเรียกเก็บเงินผู้ป่วย และ 3.การ จ่ายเงินค่ารักษาตามระบบกลุ่มวินิฉัยโรคร่วม (DRGs) จ่ายได้น้อยกว่าที่เรียกเก็บ ซึ่งแนวทางแก้ไขอยู่ระหว่างศึกษาทบทวนเพื่อหาอัตราจ่ายที่เหมาะสม

ยังมีประเด็นเรื่องการสำรองจ่าย หรือเคลียริ่ง เฮ้าส์ (Clearing house) ของ สปสช. อาจขัด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือไม่ เนื่องจากพบว่า ข้อมูลจำนวนเงินที่จ่ายชดเชยในการดำเนินการ 1 ปีที่ผ่านมา จำแนกตามสิทธิการรักษา พบว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการจ่ายชดเชยสูงสุด 157,613,854 บาท รองลงมาเป็นสิทธิข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ 154,537,901 บาท และสิทธิประกันสังคม 18,492,435 บาท แต่ปรากฏว่า สปสช.ยังไม่สามารถเรียกเก็บเงินคืนจากสิทธิอื่นได้เลย โดยกองทุนนั้นๆ ให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนระเบียบการจ่ายเงิน

ด้วยเหตุนี้ทำให้ "บุญยืน ศิริธรรม" ผู้แทนภาคประชาชนด้านเกษตรกร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และ "นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ออกมาเรียกร้องว่า อาจขัดกับมาตรา 38 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ทำให้ สปสช.ต้องจ่ายเงินในส่วนที่ไม่ใช่เงินของกองทุนฯ และยังไม่สามารถเรียกเงินคืนได้ ทำให้เกิดความเสียหาย จึงเตรียมยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ต่อศาลอาญา ศาลปกครอง และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ด้าน "นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์" รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า ทุกอย่างสามารถเรียกเก็บเงินได้ แต่ด้วยระบบราชการมักจะใช้เวลานาน ส่วนกรณีจะฟ้องร้องในเรื่องการดำเนินงานนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น หากทำจริงก็ถือว่าเป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่หากฟ้องร้องไม่ถูกต้อง บิดเบือนข้อมูลต่างๆ คณะกรรมการก็จะดำเนินการตามข้อเท็จจริง และตอบโต้เพื่อปกป้องสิทธิ หากจะร้องก็ขอให้ใช้ดุลพินิจให้ดี

แม้จะเป็นนโยบายที่ดี แต่เมื่อมีปัญหาก็ควรแก้ไขอย่างจริงจัง

 

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcat_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 4 พฤษภาคม 2556