ยักษ์โรงพยาบาลเอกชนเร่งเสริมจุดแข็งด้านการแพทย์ กรุงเทพเพิ่มดีกรีดึงเบอร์ 1 ด้านโรคเฉพาะทางกลุ่ม โรงพยาบาลต่างประเทศให้คำปรึกษาเคสยาก บำรุงราษฎร์ผนึกสถาบันโรคข้อ ดอร์ สหรัฐ ชูมาตรฐานเดียวกัน เวชธานีจับมือเกาหลีเสริมทัพด้านศัลยกรรมตกแต่ง
น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่ม "กรุงเทพดุสิตเวชการ" (BGH) เปิดเผยว่า นโยบายของกลุ่มนอกจากเดินหน้าสร้างเครือข่าย โรงพยาบาล ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านบุคลากรทางการแพทย์ การรักษามาตรฐานการรักษาพยาบาลทั้งในแง่ของคุณภาพการบริการ เพิ่มบริการใหม่ ๆ และนำนวัตกรรมการแพทย์ที่ทันสมัยเข้ามาใช้ สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ และรับมือการแข่งขัน รวมทั้งรองรับลูกค้า ต่างชาติทั้งที่จะเข้ามาเมื่อเปิดเออีซี และนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเข้ามาจำนวนมาก
ปัจจุบันมีการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลในเครือข่าย อาทิ ทยอยยกระดับโรงพยาบาลในเครือให้ได้มาตรฐาน เจซีไอ ซึ่งเป็นมาตรการฐานการรักษาระดับสากล ขณะนี้มี 12 แห่งที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งเทียบประเทศอาเซียนด้วยกัน พบว่าชาวต่างชาตินิยมเข้ามารักษาในไทยด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าสิงคโปร์ 3 เท่า นอกจากนี้ยังเสริมความแข็งแกร่งเชิงวิชาการ โดยใช้งบฯ 0.01% ของรายได้ หรือ 40 ล้านบาท จัดทำดาต้าเบสของธุรกิจเฮลท์แคร์
นอกจากนี้ ยังเพิ่มความร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศ ที่มีจุดแข็งด้านการรักษาในรูปแบบให้คำปรึกษา ไม่ได้ลงมือรักษาเนื่องจากกฎระเบียบของแพทยสภาต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเป็นภาษาไทย ทั้งนี้ โรงพยาบาลในเครือ 30 แห่ง มีบุคลากรทางการแพทย์ 7,000 คน แต่ในปี 2558 จะมีแพทย์ทั้งพาร์ตไทม์และฟูลไทม์รวม 11,000 คน
"ต้องยอมรับว่าบางวิชาเขาเก่งกว่าเรา เคสยากก็มีปรึกษาทางไกล ทำให้แพทย์ของเรามีความรู้มากขึ้น ด้านบริการทางการแพทย์ต้องการที่จะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ตอนนี้เป็นระดับตติยภูมิ รักษาครบวงจรในโรคเฉพาะทางและโรคที่มีความซับซ้อนสูง จึงต้องหาองค์กรที่เก่งกว่า หาทางร่วมมือกัน นึกอะไรไม่ออกก็มาที่เรา เป็นที่พึ่งสุดท้าย"
น.พ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ เพิ่มเติมว่า กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพร่วมกับเอ็มดีแอนเดอร์สัน แคนเซอร์ เซ็นเตอร์ ของสหรัฐ อันดับ 1 ของโลกด้านดูแลรักษาโรคมะเร็ง แลกเปลี่ยนความรู้และการวิจัย รวมทั้งยังเป็นที่ปรึกษาทางการรักษา ในลักษณะดูแลทางไกล ในอนาคตอาจร่วมมือส่งแพทย์มาประจำที่นี่
ล่าสุดยังร่วมกับโรงพยาบาลเมาท์ ไซนาย นิวยอร์ก โรงพยาบาลอันดับ 1 ด้านดูแลผู้สูงอายุ ร่วมมือส่งแพทย์เข้ามาให้คำแนะนำเปิดศูนย์บริการผู้ป่วยสูงอายุ รวมถึงรูปแบบให้บริการที่มีลักษณะเดียวกัน
"ยังมีอื่น ๆ อีก โรงพยาบาลสแตน ฟอร์ด ด้านโรคเกี่ยวกับกระดูก และกำลังดู ๆ อยู่อย่างโรคหัวใจ" น.พ.ชาตรีกล่าว
เร็วๆ นี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ประกาศความร่วมมือกับสถาบันโรคข้อ ดอร์ จากสหรัฐ น.พ.นำ ตันธุวนิตย์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า สถาบันโรคข้อ ดอร์ มีชื่อเสียงในสหรัฐ ด้านพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรักษาอาการข้อเสื่อม ทั้งนำเทคโนโลยีแขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมและ ข้อสะโพกเทียม มีการลงทุน 70 ล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกของเอเชีย และยังส่งบุคลากรด้านศัลยแพทย์กระดูกและ ข้อ 17 คน อบรมแลกเปลี่ยนความรู้ ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยเพื่อผ่าตัดรักษาอาการ ปวดข้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"กำลังศึกษาความร่วมมืออื่น ๆ เพิ่ม มองหาสถาบันที่ดีที่สุด สาขาที่เรายังไม่เชี่ยวชาญ ทำให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นและมาใช้บริการเพิ่มขึ้น"
ด้านนายชาคริต ศึกษากิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนในไทยมีความร่วมมือกับต่างประเทศด้านการแพทย์ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่จากนี้น่าจะมีความร่วมมือมากขึ้น ทั้งการเวิร์กช็อปเคสยาก ๆ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในส่วนของ เวชธานีก็เช่นเดียวกัน อาทิ ร่วมมือกับเกาหลีด้านศัลยกรรมตกแต่ง ทันตกรรมร่วมกับ มหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ตและเบอร์ลิน โดยเลือกพันธมิตรที่มีชื่อเสียงในแต่ละสาขา
ขณะเดียวกัน ก็ส่งแพทย์เข้าไปให้ คำปรึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ คลินิกโรคตาในพม่า และโรคทางสมองในกัมพูชา ซึ่งเพิ่งเริ่มปีที่แล้ว
"คนไข้ได้รับการดูแลเท่าการรักษาในต่างประเทศ การส่งแพทย์ไปให้คำปรึกษาในประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นการสร้างแบรนด์ และส่งต่อเคสยาก ๆ เข้ามารักษาในไทย"
ก่อนหน้านี้ ศ.น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เพื่อรองรับการเปิดเออีซี ขณะนี้แพทยสภาอยู่ระหว่างศึกษาระเบียบและแก้ไขกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น อาทิ การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมชั่วคราวสำหรับแพทย์ต่างชาติ การเปิดให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาทางการแพทย์ อีกแนวทางคือ เป็นฮับทางการศึกษาให้กับประเทศเพื่อนบ้าน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 - 5 พ.ค. 2556
- 50 views