กระทรวงจับมือร่วมสกัดไข้หวัดนกเตรียมเสนอแผนต่อที่ประชุมคณะกรรมการชาติศุกร์นี้พร้อม "โรคอุบัติใหม่" ย้ำไทยให้น้ำหนักป้องกันมากกว่ารักษา อธิบดีกรมควบคุมโรคแนะวางแผน 4 ระยะ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์ ระดม 30 ชุดเคลื่อนที่เร็ว เฝ้าระวังนกอพยพ แหล่งค้าสัตว์ทั่วประเทศ นักวิชาการหวั่นสืบสวนโรคยากขึ้น เหตุสัตว์ไม่แสดงอาการติดเชื้อ แนะคุมเข้มแนวชายแดน

วานนี้ (1 พ.ค.) ที่กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการจัดประชุมสัมมนาวิชาการด้านสุขภาพสัตว์ ในหัวข้อ "ประเทศไทยเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9" โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ทั้งองค์กรระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้มีการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับไข้หวัดนก H7N9 พร้อมระดมความคิดเห็นสำหรับเตรียมพร้อมในการวางแผนรับมือป้องกันร่วมกันระหว่างหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เมื่อปี 2547 เราได้รับบทเรียนเรื่องไข้หวัดนกค่อนข้างมาก และต้องเผชิญผลกระทบค่อนข้างรุนแรง แต่ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ทำให้สามารถควบคุมและปลอดจากไข้หวัดนกมานานกว่า 4 ปี

กระทั่งถึงรัฐบาลชุดนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลเรื่องโรคอุบัติใหม่ ซึ่งในปลายสัปดาห์นี้จะมีการประชุมเพื่อวางแผนรับมือและวางมาตรการป้องกันโรคอุบัติใหม่ทั้งในสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า โดยขณะนี้ประเทศไทยให้น้ำหนักในการป้องกันโรคมากกว่าการรักษา เพื่อลดความรุนแรงของโรคระบาดต่างๆ

นายยุคล กล่าวต่อว่า ในเรื่องของการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและซากสัตว์ระหว่างจังหวัดและระหว่างโซน มีการแบ่งพื้นที่การควบคุมออกเป็น 5 โซน และมีจุดตรวจสอบการเคลื่อนย้ายระหว่างโซน 32 จุด โดยให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่าน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่นำสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ สั่งเฝ้าระวังนกปากห่าง-นกเป็ดน้ำ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากขอให้เกิดขึ้น คือการวางโครงสร้างการปฏิบัติงานแบบบูรณาการในพื้นที่ ตั้งแต่หมู่บ้านมาถึงจังหวัด รวมทั้งการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาล คณะกรรมการระดับอำเภอและจังหวัดเข้ามาดูแล "วันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนยังไม่หยุดนิ่ง เราจึงต้องวางแผนป้องกันอย่างเป็นระบบ และอยากขอให้กรมอุทยานแห่งชาติฯเฝ้าระวังนกปากห่างที่อาจเป็นสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคได้ รวมถึงนกเป็ดน้ำด้วย นอกจากนี้เส้นทางอพยพก็อยากให้มีการประสานงานให้กรมปศุสัตว์เข้ามาช่วยดูแล เพราะการอพยพของนกอาจสัมพันธ์กับพื้นที่การเพาะเลี้ยงปศุสัตว์" นายยุคล ระบุ ห่วงเดือน ต.ค.H7N9 ถึงไทย

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก H7N9 ที่ระบาดอยู่ในประเทศจีนขณะนี้ยังไม่กระทบถึงประเทศไทย อีกทั้งการแพร่ระบาดในช่วงนี้ก็ถือว่าเป็นโชคดีของประเทศไทย เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน เชื้อไวรัสจึงแพร่กระจายได้ยากกว่าช่วงฤดูหนาว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าขณะนี้ยังไม่กระทบถึงไทย แต่คาดว่าในช่วงฤดูหนาวการลุกลามของเชื้ออาจจะมาถึงประเทศไทยได้ โดยเฉพาะในช่วงเดือน ต.ค. ดังนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องปรึกษาหารือและพูดคุยกันเพื่อวางมาตรการในการรับมือกับไข้หวัดนก H7N9 อย่างเป็นระบบ ไม่เช่นนั้นอาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศ เพราะประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรทั้งบุคคลและงบประมาณ

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การรับมือและการป้องกันโรคไข้หวัดนก H7N9 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับข้อจำกัดทางทรัพยากรของประเทศไทย หน่วงงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องมาพูดคุยปรึกษาหารือและวางแผนรับมือโดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคยังมาไม่ถึงประเทศไทย ต้องมีการเตรียมพร้อมและจัดระบบป้องกันอย่างไร

ระยะที่ 2 หากเริ่มพบว่าประชาชนในประเทศป่วยเป็นโรคไข้หวัดนกแล้ว 1-2 คน จะมีการยกระดับมาตรการอย่างไร

ระยะที่ 3 ต้องวางระบบจัดการที่ดีมากขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรครุนแรงมากขึ้น

ระยะที่ 4 หากมีการกระจายการแพร่ระบาดไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จะมีการจัดการกันอย่างไร ซึ่งการเฝ้าระวังโรคระบาดเหล่านี้จะต้องมีการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังในแต่ละเดือนให้สอดคล้องกับบุคลากรและสถานที่3 พ.ค.เสนอแผน"คณะกรรมการชาติ"

"ในวันศุกร์นี้ (3 พ.ค.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 4 กระทรวง ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะได้เสนอแผนรับมือโรคไข้หวัดนก H7N9 และโรคอุบัติใหม่ต่อคณะกรรมการชาติ ก่อนสรุปเป็นแผนงานและเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุแพร่ระบาดฉุกเฉินรุนแรง รวมไปถึงแนวทางการชดเชยเกษตรกร หากต้องถึงขั้นทำลายสัตว์ปีกที่เลี้ยงเอาไว้ต่อไป" อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ

ขณะที่ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ในส่วนความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เกี่ยวกับเรื่องเฝ้าระวังไข้หวัดนก H7N9 นั้น ไม่ได้แตกต่างจากแนวทางปฏิบัติของกรมปศุสัตว์ แต่เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องรับผิดชอบในกลุ่มนกอพยพ ซึ่งส่วนใหญ่จะบินหนีอากาศหนาวเย็นลงมาพักอาศัยในประเทศที่มีสภาพอากาศอบอุ่น โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในกลุ่มนกอพยพ ซึ่งอาจจะนำเชื้อเข้ามาแพร่กระจายในประเทศไทย ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯจึงได้จัดให้มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้ออยู่เป็นระยะ

"อุทยานฯ"ตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วรับมือ

นายธีรภัทร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังเฝ้าติดตามพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่เกษตรกรรม และที่สำคัญตามตลาดค้าสัตว์เช่น สวนจตุจักร โดยเก็บตัวอย่างตามมาตรฐานสากล และส่งผลการเก็บตัวอย่างไปตรวจที่กรมปศุสัตว์และมหาวิทยาลัยมหิดล ขณะเดียวกันก็ยังมีการติดตามนกอพยพและนกประจำถิ่นด้วย

ทั้งนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯยังได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว 30 หน่วย มีสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำการทั่วประเทศกว่า 300 คน และหน่วยสนับสนุนประมาณ 250 หน่วย รวมแล้วมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการประมาณ 10,000 คน คอยปฏิบัติงานในพื้นที่หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

"ถือว่าประเทศไทยค่อนข้างโชคดีที่การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกเกิดขึ้นในประเทศจีน เพราะช่วงนี้นกอพยพไม่ได้บินจากเหนือลงใต้ แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยจะต้องเฝ้าระวังในช่วงที่มีการอพยพกลับไปยังถิ่นฐานด้วย" นายธีรภัทร กล่าว

ด้าน นายทวีศักดิ์ ส่งเสริม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจากโรคไข้หวัดนก H7N9 เมื่อมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสู่สัตว์แล้วจะไม่สามารถสังเกตได้ว่าสัตว์ตัวไหนติดเชื้อไวรัสมาแล้ว เนื่องจากสัตว์จะไม่มีการแสดงอาการใดๆ ที่ผิดปกติเหมือนกับไข้หวัดนกH5N1 จึงทำให้การสืบสวนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโดยเฉพาะจากสัตว์สู่คนทำได้ยากมากขึ้น

ดังนั้นในความเห็นของตนจึงอยากเสนอให้หน่วยงานและสถาบันวิจัยต่างๆ ทำการแยกเชื้อไวรัสกันใหม่ เนื่องจากในรายละเอียดของโรคไข้หวัดนก H7N9 ไม่เหมือนกับไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งตรงจุดนี้ต้องมีการปรึกษาหารือและพูดคุยกันระหว่างสถาบันต่างๆ เนื่องจากเป็นรายละเอียดในเชิงปฏิบัติการโดยจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและการค้นหาเชื้อได้ดีมากขึ้น

จี้ตรวจเข้มตามแนวชายแดน

นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า แม้ในส่วนของรายละเอียดเชื้อไวรัสจะแตกต่างกัน แต่เนื่องจากประเทศไทยเคยมีประสบการณ์ในการรับมือไข้หวัดนก H5N1 มาแล้ว จึงเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถรับมือกับไข้หวัดนก H7N9 ได้ แต่สิ่งที่อยากฝากให้มีการเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้นคือการติดต่อค้าขายบริเวณชายแดน โดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์ปีกที่อาจมีการลักลอบนำเข้ามาในประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ เราจึงไม่ควรมองข้างประเด็นนี้ อีกประเด็นที่สำคัญคือต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนงบวิจัยมากขึ้น เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ความรู้ทางงานวิจัยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 พฤษภาคม 2556