กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เอาใจผู้ใช้แรงงาน 45 ล้านคน เปิดคลินิกรักษาโรคจากการทำงานใน รพ.ใหญ่ 81 แห่ง ยันให้สิทธิคนไข้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ เล็งตั้ง'คลินิกเกษตรกร' อย่างน้อย จังหวัดละ 1 แห่ง
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลกลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีว่า สธ.มีนโยบายป้องกันและลดปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป และโรคจากการประกอบอาชีพ เช่น อุบัติเหตุจากการทำงาน การได้รับสารเคมีในภาคเกษตร เป็นต้น
"ขณะนี้ สธ.ได้ตั้งคลินิกโรคจากการทำงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 81 แห่ง เพื่อรักษาโรคภัยที่เกิดจากการทำงาน ทั้งจาก 3 กองทุนสุขภาพ มีแพทย์เชี่ยวชาญดูแลเฉพาะ พร้อมเครื่องมือแพทย์ ระบบการดูแลมีความเป็นพิเศษแตกต่างจากผู้ป่วยทั่วไป เช่น ห้องชำระล้างสารเคมี เครื่องตรวจระดับการได้ยิน ยารักษาจำเพาะโรค การเย็บต่ออวัยวะที่ถูกเครื่องจักรตัดขาด เป็นต้น สำหรับในพื้นที่ชนบท จะตั้งคลินิกสุขภาพเกษตรกรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อป้องกันโรคทั่วไป และตรวจคัดกรองความเสี่ยงจากการได้รับสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรกรรม เช่น ยาฆ่าแมลง เนื่องจากมีผลการตรวจเลือดเกษตรกรในรอบ 2 ปี พบว่ามีสารกำจัดศัตรูพืชในระดับที่เสี่ยงและไม่ปลอดภัยสูงถึงร้อยละ 32 ของเกษตรกรที่ได้รับการตรวจคัดกรอง จึงต้องเน้นการป้องกัน โดยเฉพาะโรคมะเร็งจากสารเคมีบางชนิด" นพ.ประดิษฐกล่าว
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำคู่มือ การจัดบริการคลินิกสุขภาพเกษตรกรใน รพ.สต. เป็นคู่มือสำหรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ สาธารณสุขในการดูแลเกษตรกรที่มีอยู่ 15 ล้านคน รวมทั้งร่วมกับคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล และแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม จัดทำคู่มือประเมินความเสี่ยงอาการผิดปกติของระบบโครงร่าง กระดูก และกล้ามเนื้อ เพื่อให้การดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องใช้ใน รพ.สต.และโรงพยาบาลทั่วประเทศ เนื่องจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาพบว่า โรคจากการประกอบอาชีพที่มีรายงานมาก 5 อันดับ และ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มโรคกระดูก และกล้ามเนื้อ ร้อยละ 54 กลุ่มพิษจากสัตว์ ร้อยละ 25 กลุ่มโรคผิวหนัง ร้อยละ 20 กลุ่มพิษจากพืช ร้อยละ 4 กลุ่มโรคปอดและทางเดินหายใจ ร้อยละ 3
"นอกจากนี้ การทำงานในท่าทางไม่เหมาะสมซ้ำๆ ทุกวันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดความเมื่อยล้าและอาการเจ็บปวดเฉพาะที่ เช่น ยืนนั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ ยกของหนัก ฯลฯ อาจเกิดอาการเจ็บปวดถาวร และข้อต่อเอ็นเสื่อมได้ วิธีป้องกันคือ ควรหากิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า หลัง ไหล่ สะบัก หลังส่วนบน สีข้าง ลำตัวและข้อเท้า ใช้เวลาน้อย ทำได้ง่ายทุกเพศทุกวัย ผู้สนใจขอคำแนะนำที่ โทร.0-2591-8172 หรืออีเมล์ media.envocc@gmail.com" นพ.พรเทพกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 พฤษภาคม 2556
- 51 views