"ยุคล" ยืนยันไม่พบหวัดนกในไทย แต่นักวิทยาศาสตร์ หวั่นเชื้อ H7N9 เกิดการกลายพันธุ์เจริญเติบโตในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะมนุษย์ กรมปศุสัตว์เข้มตรวจสอบจุดเข้าออกชายแดน

สถานการณ์ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 แพร่ระบาดในจีน ทำให้หลายประเทศรวมทั้ง "ไทย" ต้องใช้มาตรการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดทั้งในคน สัตว์ปีกเลี้ยงและสัตว์ปีกธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะยังไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวก็ตาม

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า จากการติดตามควบคุมดูแลโรคไข้หวัดนก ของกรมปศุสัตว์ตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ ไบโอซิเคียวริตี้(Bio Security) ขั้นสูงสุด ในขณะนี้ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคในประเทศ แต่เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของไทยได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์สุ่มตรวจสอบเก็บตัวอย่างจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 พร้อมฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อจุดเข้าออกชายแดนทุกจุดอีกครั้ง เพราะเป็นจุดสำคัญในการป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้ามาในประเทศไทย

"โชคดีที่ไทยอยู่ในสถานะผู้ส่งออกสัตว์ปีก จึงแทบไม่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกจากการนำเข้า ทั้งยังได้ติดตามฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณแหล่งที่อยู่อาศัยของนกอพยพ ซึ่งควบคุมโรคได้ดี เพราะไทยมีอากาศร้อน เชื้อโรคไข้หวัดนกไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศได้ ต่างจากจีน การระบาดของไข้หวัดนกขยายตัวเพราะเชื้อโรคอยู่ได้ในอากาศหนาว" นายยุคลกล่าวและว่า

นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบเชื้อโรคที่อาจติดมากับนักท่องเที่ยวที่เข้าไทย โดยเฉพาะชาวจีนให้เข้มงวดมากขึ้น

คาดส่งออกเนื้อไก่ไทยโตสูง

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในโลกยังคง "ทรงตัว" กล่าวคือ พื้นที่การระบาดในจีนยังมีเพิ่มขึ้น และไทยยังควบคุมป้องกันโรคได้ จะทำให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสัตว์ปีกหลักของโลก โดยมีคู่แข่งเพียงรายเดียว คือ บราซิล แต่ไทยมีความได้เปรียบในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่ในตลาดสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น เนื่องจากคุณภาพสินค้าไทยดีกว่า จะทำให้คำสั่งซื้อเนื้อไก่หลั่งไหลมาสู่ผู้ประกอบการไทย คาดว่าตัวเลขการส่งออกเนื้อไก่ไทย ทั้งเนื้อไก่สด และไก่ปรุงสุก จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากปีที่ผ่านมามีปริมาณส่งออกรวม 6 แสนตัน

"หลังจากอียูยอมเปิดโควตาการส่งออกเนื้อไก่สดจากไทย ทำให้หลายประเทศเข้ามาติดต่อ เตรียมขอซื้อเนื้อไก่จากไทยมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และกาตาร์ เจ้าหน้าที่จากญี่ปุ่น เพิ่งเข้ามาตรวจสอบระบบการควบคุมและการป้องกันโรคของไทย และแสดงความพอใจว่าไทยมีมาตรฐานในการเลี้ยงสัตว์ปีกอยู่ในเกณฑ์ที่ดี" นายยุคลกล่าว :ทดลองH7N9ไม่ติดคนสู่คน

นางสาวศยามล สิทธิสาร นิสิตปริญญาเอกสาขาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้เร่งทำการวิจัยเพื่อบ่งชี้ให้ได้ว่า H7N9 ติดต่อจากคนสู่คนได้หรือไม่ โดยใช้เทคนิค real-time reversetranscriptase-polymerase-chainreaction (RT-PCR), viral isolation หรือ serologic testing โดยใช้ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่พบเชื้อ, ผู้ที่ทำงานวิจัย, ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ปีกมาเป็นตัวอย่างในการศึกษาการติดเชื้อ

ผลการทดลองล่าสุดพบว่าเชื้อ H7N9 ไม่สามารถติดจากคนสู่คนได้ และเชื้อ H7N9 สามารถติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คนได้ง่ายกว่าเชื้อ H5N1 เพราะเชื้อ H7N9 มียีนบางยีนและเอนไซม์บางชนิดเกิดการกลายพันธุ์ จึงเกิดการพัฒนาตัวเองให้เข้าสู่คนได้ง่ายขึ้น การกลายพันธุ์ (mutation) จัดเป็นกลไกหนึ่งของ "วิวัฒนาการ"  ซึ่งอาจจะทำให้เกิดลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมหรือแย่ลงกว่าเดิมก็ได้ ในกรณีของเชื้อไวรัส H7N9 นี้คือการกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดในธรรมชาติให้ได้ดีกว่าเดิม

การที่ไวรัส H7N9 กำลังปรับตัวให้เข้ากับเซลล์ของมนุษย์ จะนำมาซึ่งการระบาดใหญ่ได้ในอนาคต  ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเริ่มศึกษาวิจัยอย่างเจาะลึกถึงลำดับของยีนไวรัส H7N9 โดยมีงานวิจัยล่าสุดของมาซาโตะ ทาชิโร่ แห่งศูนย์วิจัยไวรัสไข้หวัดใหญ่ สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ และโยชิฮิโร่ คาวาโอกะ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินเมดิสัน และมหาวิทยาลัยโตเกียว ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Eurosurveillance ได้ศึกษาลำดับของยีนไวรัส H7N9 ที่ได้จากผู้ป่วยไข้หวัดนก 4 ราย และตัวอย่างจากนกบางตัว รวมทั้งจากสิ่งแวดล้อมในตลาดเซี่ยงไฮ:หวั่นไวรัสกลายพันธุ์

งานวิจัยพบว่า ไวรัสที่มาจากมนุษย์มีการกลายพันธุ์ของโปรตีนที่ทำให้เติบโตในเซลล์ของมนุษย์ได้ แต่ตัวอย่างจากนกและสิ่งแวดล้อมไม่มีการกลายพันธุ์ ซึ่งการกลายพันธุ์นี้จะทำให้ไวรัสเจริญเติบโตได้ในอุณหภูมิที่สอดคล้องกับระบบหายใจส่วนบนของมนุษย์ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ต่ำกว่าในร่างกายนก

การศึกษาครั้งนี้ได้ข้อมูลมาจากลำดับของยีนที่นักวิจัยชาวจีนได้ศึกษาและเก็บไว้ในฐานข้อมูลนานาชาติ ทำให้นักวิจัยได้ร่องรอยทางโมเลกุล สามารถสรุปได้ว่า ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 เป็นไวรัสที่น่ากลัว ทั้งในด้านของวิวัฒนาการ การแพร่กระจาย และการกลายพันธุ์ เนื่องจากมีข้อมูลเชิงลึกที่บ่งชี้ว่าไวรัสนี้ปรับตัวกลายพันธุ์เพื่อเจริญเติบโตในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะมนุษย์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าไวรัสนี้จะปรับตัวไปเรื่อยๆ เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นมีมากมายหลายชนิด

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 เมษายน 2556