กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประชุมวอร์รูมไข้เลือดออก ย้ำสถานการณ์ยัง น่าห่วง เผยยอดผู้ป่วยสะสม 'มกราคม-เมษายน' พุ่งกว่า 24,000 ราย ตาย 28 ราย ร้อยละ 60 เป็นนักเรียนประถมฯและมัธยมฯ ชี้ 1 ใน 3 รักษาช้า ทำให้อาการหนัก ดึง สพท.ทั่วประเทศสกัดก่อนถึงฤดูฝน
เมื่อวันที่ 28 เมษายน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2556 ว่า จากการประเมินสถานการณ์การเจ็บป่วยของที่ประชุมวอร์รูมแก้ไขป้องกันโรคไข้เลือดออก สธ.พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงวันที่ 17 เมษายน ทั่วประเทศมีผู้ป่วยสะสม 24,272 ราย เสียชีวิต 28 ราย ผู้เสียชีวิตร้อยละ 60 เป็นเด็กชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา อายุ 6-12 ปี จากการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต พบว่าประมาณ 1 ใน 3 ไปรักษาตัวที่คลินิกก่อน เพราะเข้าใจว่าป่วยเป็นโรคอื่น โดยมี 19 จังหวัด ที่พบผู้ป่วยมากกว่า 2 อำเภอ ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ในช่วงวันที่ 7-20 เมษายน ได้แก่ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด เลย หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เชียงราย น่าน แพร่ กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และสงขลา จึงได้กำชับให้ผู้ตรวจราชการ สธ.ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ 19 จังหวัดดังกล่าว ติดตามแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจของสำนักงานควบคุมป้องกันโรค พบว่ามีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่จะอยู่นอกบ้าน เช่น เศษขยะ กล่องโฟม โอ่งเก็บน้ำฝนขนาดใหญ่ไม่มีฝาปิด กระป๋อง ถ้วยน้ำหรือแก้วพลาสติกที่ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง และมีน้ำขัง ยางรถยนต์เก่า เป็นต้น จึงเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคนและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ตระหนักและจริงจังในการกำจัดต้นตอของยุงลาย รวมถึงสอนให้เด็กทุกคนเข้าใจถึงอันตรายของไข้เลือดออก ใส่ใจถึงการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ไม่ให้ยุงได้มีโอกาสแพร่พันธุ์มากขึ้น
"ในวันที่ 2 พฤษภาคม คณะกรรมการวอร์รูมฯ สธ.จะประชุมหารือกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เด็กนักเรียน ทำให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดยุงลาย โดยจะเสนอใช้ 9 แนวทางในการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ในฤดูฝนก่อนที่โรงเรียนทุกแห่งจะเปิดเทอม ได้แก่ 1.กำจัดขยะ และภาชนะเหลือใช้ เช่น กระป๋อง ยางรถยนต์ กล่องโฟม ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 2.ขัดล้างทำความสะอาดภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำ เช่น แท็งก์เก็บน้ำ แจกัน ถาดรองน้ำตู้เย็น ซึ่งอาจมีไข่ของยุงลายเกาะอยู่ 3.ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูในภาชนะบรรจุน้ำขนาดเล็ก เช่น ขารองตู้ เพราะมีสารที่ฆ่าลูกน้ำได้ 4.ทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสบ่อยๆ ได้แก่ ลูกบิดประตู ราวบันได แป้นคอมพิวเตอร์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการแพร่เชื้อจากมือของเด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไปยังผู้อื่น 5.จัดหาเจลล้างมือไว้หน้าห้องเรียน หน้าลิฟต์ 6.ตั้งกลุ่มเด็กอาสาสมัครเพื่อช่วยกันสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ และแจ้งการป่วยของเพื่อนนักเรียน 7.ตรวจคัดกรองหรือวัดไข้เด็ก หากพบว่ามีไข้ ไอหรือเจ็บคอให้สวมหน้ากากอนามัย แต่หากมีไข้ 2 วัน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นไข้เลือดออก และให้ทายากันยุง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยหากถูกยุงกัดแล้วยุงไปกัดผู้อื่นอีก และให้รีบไปพบแพทย์ 8.ปลูกตะไคร้หอม เพื่อนำไปใช้กันยุงในห้องเรียน และ 9.จัดเตรียมความรู้ให้ครูอนามัยเรื่องไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ และโรคมือเท้าปาก" นพ.ณรงค์กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 29 เมษายน 2556
- 2 views