สาธารณสุข เร่งพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 เรื่องหลักได้แก่ ระบบการปฏิบัติการกู้ชีพของทีมแพทย์ฉุกเฉิน ระบบความพร้อมของห้องฉุกเฉินหรือห้องอีอาร์ในโรงพยาบาลทุกระดับ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุบ่อย และ ระบบการส่งต่อผู้ป่วย สามารถไปถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเร็วที่สุด
วันนี้ ( 23 เมษายน 2556 ) ที่โรงพยาบาลสงขลา จ.สงขลา พลเอกนายแพทย์อำนวย ถิระชุณหะ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเครือข่ายบริการสุขภาพที่ 12 ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ทีมแพทย์ พยาบาล ตำรวจ ผู้แทนแม่ทัพภาค 4 ผู้แทน ศอ.บต. และแพทย์ด้านระบาดวิทยามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่ ร่วมประชุมพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในพื้นที่
พลเอกนายแพทย์อำนวย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้มาติดตามการดำเนินงานการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีทั้งหมด 37 แห่งหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในการบริการประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมา การปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์กู้ชีพทุกระดับในระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ มีรูปแบบเฉพาะพื้นที่ ต่างจากพื้นที่ปกติอื่นๆอย่างสิ้นเชิง โดยกระทรวงสาธารณสุขวางแผนเร่งพัฒนาประสิทธิภาพ 3 เรื่องหลัก คือ1.ระบบการปฏิบัติการกู้ชีพของทีมแพทย์ฉุกเฉิน 2. ระบบความพร้อมของห้องฉุกเฉินหรือห้องอีอาร์ในโรงพยาบาลทุกระดับ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุบ่อย และ 3 ระบบการส่งต่อผู้ป่วย และมีช่องทางด่วน ( Fast tract ) ให้ถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเร็วที่สุด ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทางด้านนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเครือข่ายบริการสุขภาพที่ 12 กล่าวว่า ในการพัฒนาระบบการดูแลผู้บาดเจ็บจากเหตุความไม่สงบ กระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบช่องทางด่วน บริการของโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบแจ้งเหตุหมายเลขด่วน 1669 ระบบศูนย์ส่งต่อ และห้องฉุกเฉิน โดยจะมีการประสานการส่งต่อกันระหว่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่กับโรงพยาบาลขนาดเล็ก การใช้ทรัพยากร บุคลากร คลังเลือด การพัฒนาเครื่องมือแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยสิ่งผิดปกติให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้การดูแลรักษาได้ตรงจุด นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานกองทัพภาคที่ 4 และ ศอ.บต.ใช้ระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการสาหัสทางอากาศมาใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย เพื่อให้ผู้ป่วย้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
- 14 views