นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดฉากปัญหาใหม่อีกครั้ง กับการเตรียมตั้งคณะทำงานบริหารการจ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในแวดวงสาธารณสุขว่า การกระจายงบขาลง ซึ่งจะเป็นงบประมาณที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดระบบจ่ายเงินไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศ (งบขาขึ้น คือ สปสช.ของบประมาณประจำปีกับ ครม.)
คณะทำงานชุดนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ของกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการมาทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. มีภารกิจหลัก คือ ก่อนการกระจายงบขาลงจะต้องผ่านความคิดเห็นจากคณะทำงานชุดนี้ โดยจากนี้ไปการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลจะไม่เพียงแค่สปสช.จ่ายตรงให้โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ก่อนจ่ายจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานชุดนี้ ที่จะอิงความเห็นจากเขตบริการสุขภาพที่ สธ.จัดไว้ทั้งหมด 12 เขตพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีผู้ตรวจราชการกระทรวงดูแล โดย นพ.ประดิษฐมองว่า การบริหารจัดการรูปแบบใหม่ จะทำให้การจัดระบบจ่ายเงินไปยังโรงพยาบาลเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพขึ้น
นั่นเพราะในอดีตโรงพยาบาลหลายแห่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากระบบการบริหารการเงินของ สปสช. โดย พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) มองว่า ที่ผ่านมา สปสช.ไม่สามารถบริหารการเงินกระจายให้โรงพยาบาลต่างๆ อย่างทั่วถึง เนื่องจากไปตั้งเงื่อนไขการจ่ายเงินเพิ่มในส่วน "บริการกรณีเฉพาะ" ซึ่งเป็นการบริการรักษากลุ่มโรคราคาแพง หรือโรคเฉพาะกว่า 30 กลุ่ม อาทิ การให้เคมีบำบัด การรักษาด้วยออกซิเจนความกดดันสูง ซึ่งเป็นการรักษาโรคจากการดำน้ำ บริการทันตกรรมจัดฟัน สำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเพื่อรักษาปาก การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืด เป็นต้น
"การจ่ายเงินจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ โรงพยาบาลไหนรักษาได้ในกลุ่มใดก็จะได้รับเงินแค่นั้น ขณะที่บางกลุ่มโรค สปสช.แทบไม่ต้องจ่ายเงินให้โรงพยาบาล เพราะอาจไม่มีการรักษามากนัก เงินก็ค้างอยู่ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทั้งๆ ที่ยังมีโรงพยาบาลอีกมากต้องการเงินเพื่อบริหารตัวเอง อยากให้คณะทำงานชุดนี้ยกเลิกการแยกกลุ่มโรคแบบนี้ แต่ให้นำมารวมกันทั้งหมด เพื่อให้สามารถใช้เงินได้อย่างคุ้มค่าจริงๆ" พญ.ประชุมพรกล่าว
ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กลับเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นการรวบอำนาจ เนื่องจาก สปสช.มีการบริหารจัดการ โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) การตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง สธ.กับ สปสช.จึงไม่มีความจำเป็น
ขณะที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.มงคล ณ สงขลา ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ "นพ.ประดิษฐ" โดยได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า "หากศึกษา พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ถ่องแท้ เจตนารมณ์ที่ชัดเจน คือ ต้องการแยกผู้ซื้อบริการ (สปสช.) กับผู้ให้บริการ (โรงพยาบาล) ออกจากกัน เพื่อประกันไม่ให้มีการเบียดบังงบประมาณค่าบริการไปใช้อย่างอื่น แต่ขณะนี้ สธ.กำลังจะเอาเงินก้อนนี้ไปแบ่งปันให้เขต 12 เขตบริการสุขภาพ เพื่อไปจัดสรรให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งในเขต เป็นการถอยหลังเข้าคลอง และการที่เลขาธิการ สปสช.ให้ข่าวชัดเจนว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่การยกงบประมาณไปให้เขตจัดสรร รวมเงินไว้ที่ผู้ให้บริการฝ่ายเดียว ผิดหลักการแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการออกจากกันอย่างชัดเจน ท่านเลขาธิการ สปสช.กำลังตายทั้งๆ ที่ยังหายใจอยู่หรือเปล่า"
เรื่องนี้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ย้ำตลอดว่า ไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะเงินไม่ได้อยู่ที่ สธ. แต่ยังอยู่ที่ สปสช. เป็นผู้กระจายให้โรงพยาบาลต่างๆ เพียงแต่คณะทำงานชุดนี้จะทำหน้าที่ในการพิจารณาร่วมในระดับเขตเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนในเรื่องกระจายงบแต่อย่างใด
ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะเป็นเช่นใด แต่หากเป็นอย่างเลขาฯสปสช. ยืนยันจริง..ก็คงดี
ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcat_2927@hotmail.com
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 เมษายน 2556
- 3 views