กำลังลุ้นกรณีโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก มูลค่า 1,411.70 ล้านบาท และการสำรองวัตถุดิบพาราเซตามอลจำนวน 148 ตันขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข มอบหมายให้ นายกมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว.สาธารณสุข ไปยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบว่าท้ายที่สุดแล้วจะมีบทสรุปอย่างไร
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา นพ.ประดิษฐ เดินทางไปให้ปากคำต่อดีเอสไอพร้อมมอบเอกสารเพิ่มเติม ทั้งนี้ประเด็นที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอแถลงข่าว คือ ทั้ง 2 เรื่องมีความไม่ปกติ และยังมีประเด็นใหม่กรณีวัตถุดิบพาราเซตามอลที่ดีเอสไอตั้งคำถามเรื่อง "มาตรฐาน" แต่ก่อนจะสรุปอะไรไป ดีเอสไอต้องขอเอกสารหลักฐานจากโรงงานเภสัชกรรมทหารและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งเคยตรวจวิเคราะห์มาดูก่อนว่าจริงหรือไม่
นอกจากนี้ดีเอสไอยังได้ส่ง นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันปราบปรามการทุจริต ไปร่วมเป็นคณะทำงานตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานในกำกับ ซึ่งมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานอีกด้วย
ในการรับลูกของดีเอสไอในครั้งนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่?
คุณธาริต ได้ให้เกียรติตอบข้อสงสัยว่า ดีเอสไอไม่ใช่หน่วยงานทางการเมือง เราเป็นหน่วยกลางดีที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน ทำงานให้กับบ้านเมือง เราไม่ปฏิเสธว่าเราอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของฝ่ายบริหารคือรัฐบาลซึ่งนานาประเทศก็เป็นอย่างนี้ แต่สิ่งที่เราดำเนินการเป็นไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าสิ่งที่ดำเนินการกันไปของแต่ละฝ่ายแต่ละคนผิดถูกเป็นอย่างไร
เรื่องที่ดีเอสไอรับมาดำเนินการโดยทั่วไปเกิดจาก 2 กรณี คือ หนึ่งมีผู้ร้องเรียน และอีกกรณีคือดีเอสไอสืบสวนสอบสวนพบเอง กรณีที่มีผู้ร้องเรียนเราไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง ผู้เสียหายอาจเป็นชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา เราก็ทำให้ แต่กรณีที่มีการร้องเรียนโดยหน่วยงานเช่นทั้ง 2 เรื่องนี้ ประการแรก เป็นการร้องเรียนโดยท่านรัฐมนตรี โดยสถานะของผู้ร้องเรียนเราต้องให้ความสำคัญเพราะเป็นเจ้ากระทรวง ก็ต้องมีมูลเบื้องต้นพอสมควร คงไม่มีรัฐมนตรีคนไหนจับเอาเรื่องไม่เป็นสาระมาร้องเรียน ประการที่สองเป็นเรื่องที่กระทบต่องบประมาณแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ทางด้านสุขภาพของประชาชน อันนี้ยิ่งต้องให้ความสำคัญมากขึ้นอีกระดับหนึ่งเพราะมันกระทบกับการใช้งบประมาณและเรื่องสุขภาพของประชาชน จึงเป็นเหตุผลที่เรารับเรื่องนี้ ถือเป็นหน้าที่ของเราเลย ไม่ใช่ว่าเลือกทำ
เราต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่สามารถกลั่นแกล้งได้หรอกครับ เพราะดีเอสไอมีกฎหมายกำหนดไว้เลยว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ของเราไปกลั่นแกล้งใครจะต้องรับผิดเป็น 2 เท่าของความผิดนั้น ๆ เรื่องใหญ่โตขนาดนี้คงไม่ใช่เรื่องที่จะไปกลั่นแกล้งกันได้ 10 ปีที่ก่อตั้งมา ยืนยันว่าเราทำงานแบบมืออาชีพ ผิดก็ว่าผิด ถูกก็ว่าถูก ส่วนเมื่อพบความผิดแล้วถ้าเป็นเรื่องของวินัยก็เป็นเรื่องของต้นสังกัด สมมุติว่า 2 เรื่องนี้พบความผิด เรื่องทางวินัยก็เป็นเรื่องกระทรวงสาธารณสุขไปว่ากันเอง แต่ถ้าเป็นเรื่องทางอาญาเป็นหน้าที่ของเรา เราต้องส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. หรืออัยการเพื่อฟ้องศาล เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทุกประเทศจะมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่อย่างนี้แหละครับ ไม่ตำรวจก็ดีเอสไอ แต่เรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตหรือการฮั้ว การสมยอม มันเป็นหน้าที่ของดีเอสไอโดยตรง ตำรวจทำไม่ได้ ผมยืนยันว่าเราทำอย่างตรงไปตรงมา
เหตุที่เราอาจจะต้องมีข่าวออกไปบ้างเพราะว่าสาธารณชนต้องการรับรู้ สื่อมวลชนเองก็ให้ความสนใจติดตาม เพราะเหตุผล 2 ประการ คือ 1. คนร้องเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง 2.มันกระทบกับงบประมาณและสุขภาพของประชาชน เรื่องที่เป็นข่าวไม่ได้มีเฉพาะเรื่องนี้ ไหนจะเรื่องโรงพัก สอบทุจริตครู สารพัดเรื่อง อย่างสอบทุจริตครู รัฐมนตรีก็ร้องมาโดยตรงเหมือนกับเรื่องสาธารณสุข ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน ส่วนเรื่องที่จะไปเกี่ยวกับการเมืองในมุมของผมยังไม่เห็นนะ เพราะเราไม่ได้เอาประเด็นว่าใครขั้วใคร ใครฝ่ายไหน มาเป็นสาระ ถ้าจะมองมุมนั้นก็สุดแล้วแต่ที่จะมอง แต่ในมุมของดีเอสไอไม่ใช่แน่นอน
ดีเอสไอมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสำรองวัตถุดิบพาราเซตามอลอย่างไร?
ข้อสงสัยเรื่องนี้มีข้อยุติในระดับหนึ่งแล้วว่ามันมีการปนเปื้อน เพราะมีการส่งคืนจากโรงงานเภสัชกรรมทหาร 18 ลอต แต่ข้อมูลใหม่ที่เราได้มาคือนอกจากการปนเปื้อนแล้วอาจจะเป็นเรื่องวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งตอนนี้เรากำลังตรวจสอบอยู่ว่าเป็นจริงหรือไม่ ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมถึงเลือกซื้อวัตถุดิบจากบริษัทเดียว ไม่มีแผนการผลิตแล้วทำไมสั่งซื้อ เอามาสต๊อกเฉย ๆ เรื่องเหล่านี้ไม่ปกติทั้งนั้น เราจะคลี่คลายความจริงออกมาว่า มันเป็นการละเลยมั้ย เป็นการดำเนินการโดยมิชอบด้วยระเบียบการจัดซื้อมั้ย ก็ต้องดูในเชิงลึกต่อไป
การอ้างเหตุผลเรื่องน้ำท่วมในการสำรองวัตถุดิบ?
สมมุติว่าสั่งวัตถุดิบมาเก็บไว้ในสต๊อกแล้วเกิดอุทกภัยรุนแรง ไม่สามารถขนย้ายได้ทัน น้ำท่วม รับฟังได้ เหตุสุดวิสัย แต่การจะอ้างเหตุน้ำท่วมอย่างเดียวคงไม่ใช่ เพราะว่าโรงงานของ อภ. ไม่ได้ผลิตมาตั้งแต่ปี 2546 กรณีน้ำท่วมทำไมไม่ซื้อเป็นยาเข้าสต๊อกไปเลยแทนที่จะซื้อวัตถุดิบ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีแผนการผลิตและไม่สามารถผลิตได้ การอ้างเหตุผลน้ำท่วมมันสมเหตุสมผลหรือไม่ ไม่งั้นน้ำท่วมอ้างได้หมดทุกอย่าง
จะให้ความเป็นธรรมกับ อภ. ชี้แจงอย่างไรบ้าง?
เราจะสอบทั้งหมดและให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทั้ง ผอ.อภ. ประธานบอร์ด อภ. มาชี้แจง อธิบาย แสดงพยานหลักฐาน ทุกอย่างต้องแฟร์ เพลย์ ตอบได้สมเหตุสมผลจบ ถ้าไม่ใช่ก็ต้องดำเนินคดี
กรณีวัตถุดิบพาราเซตามอลมีการแสดงความบริสุทธิ์ใจคืนวัตถุดิบทั้งหมดและได้เงินคืน?
ในหลักการ การคืนสิ่งที่ใช้งบประมาณซื้อมาแล้วไม่ได้ลบล้างความผิด แต่อาจจะช่วยให้ความเสียหายทุเลาลง
มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมบริษัทขายวัตถุดิบให้กับ อภ. ชนะการประมูลบ่อย?
ผมใช้คำว่ามันเป็นข้อมูลที่เราต้องตรวจสอบ ผิดถูกอีกเรื่องหนึ่ง แต่การที่บริษัทนี้ได้ประจำเพราะอะไรต้องตรวจสอบ ถ้าตรวจสอบพบว่าบริษัทได้มาตรฐาน ขายถูก ไม่มีปัญหาเรื่องส่งคืนเลย ถูกต้องตลอดก็สมเหตุสมผล แต่ถ้าไม่ใช่ เช่นสมมุติว่า สั่งซื้อพิเศษทีไรเอาหมอนี้ตลอด แถมราคาแพงกว่าอีกด้วย ทั้งที่คนอื่นก็ทำได้ อย่างนี้ไม่ใช่แล้ว การที่ได้ซ้ำ ๆ กันเป็นนัยที่จะต้องตรวจสอบแน่นอน
เรื่องโรงงานวัคซีนที่ รมว.สาธารณสุขมอบข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกให้ดีเอสไอมีประโยชน์อย่างไร?
มีประโยชน์ครับ เอกสารเป็นคำแนะนำ เป็นการตอบคำถามที่กระทรวงสาธารณสุขอยากรู้ว่าการสร้างโรงงานควรจะทำหรือไม่ ตอนนี้เรายังไม่ได้ดูรายละเอียดทั้งหมด แต่เท่าที่ฟังท่านให้การทางองค์การอนามัยโลกเขาก็เห็นว่าการดำเนินการสร้างแพทเทิร์นอย่างนี้ไม่สมควรทำ มันยังเป็นเรื่องแล็บ เรื่องการทดลอง โนฮาวยังไม่ได้ มันยังไม่ใช่เวลานี้ และยังมีเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน ที่สำคัญคือเรื่องเทคโนโลยี ไม่อยู่ในสเตทที่จะทำได้ มันยังต้องไปถึงปี ค.ศ. 2017
ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าอีอ๊อคชั่นโรงงานวัคซีนมีบริษัทเดียว แต่หากประกวดราคาใหม่ต้องล่าช้าออกไปอีก 3-6 เดือน?
มันพอฟังได้หรือครับ การอ้างสมเหตุสมผลหรือไม่ ท้ายที่สุดในวันนี้ความล่าช้ามันเท่าไหร่ 3 ปีแล้วนะ ไม่ใช่ 3 เดือน
คาดว่าต้องใช้เวลาตรวจสอบนานแค่ไหน?
ไม่ช้าหรอกครับ ด้วยเหตุผล 2 ประการที่พูดไปแล้ว ซึ่งในสัปดาห์หน้าคงต้องมาตัดสินใจว่า จะคัดบางส่วนที่ผิดออกไปก่อน หรือรอทั้งองคาพยพ
ดีเอสไอมอบให้ คุณธานินทร์ ไปร่วมเป็นคณะทำงานตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในกระทรวงสาธารณสุข?
คุณธานินทร์ เป็น ผอ.ศูนย์ป้องกันปราบปรามการทุจริตอยู่แล้ว เขาทำเรื่องนี้ซึ่งเกี่ยวพันกับกระทรวงสาธารณสุข การประสานงานกับคนในกระทรวงก็พบหน้าค่าตากันแล้ว กรณีที่จะตรวจสอบเรื่องร้องเรียนมีเรื่องยาด้วย ดังนั้นก็เอาคนของเราที่รู้เรื่องดีที่สุดไปทำงาน ไม่มีอะไรมีเหรอกครับ เพียงแต่การขอความร่วมมือของท่านรัฐมนตรีจะทำให้งานเร็วขึ้น ดีเอสไอจะไปร่วมสอบตั้งแต่ต้น ไม่ผิดก็เอาออกไป ผิดก็รับมาทำต่อ ตอนนี้ไม่รู้ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง แต่รู้จากปากท่านรัฐมนตรีว่ามีเรื่องร้องเรียนเยอะมาก หลายเรื่อง
"เรื่องใหญ่โตขนาดนี้คงไม่ใช่เรื่องที่จะไปกลั่นแกล้งกันได้ 10 ปีที่ก่อตั้งมา ยืนยันว่าเราทำงานแบบมืออาชีพ ผิดก็ว่าผิด ถูกก็ว่าถูก"
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 เมษายน 2556
- 3 views