จีนไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้หวัดนกพันธุ์ใหม่ระบาดจากคนสู่คน องค์การอนามัยโลกเพิ่งตื่น ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญร่วมตรวจสอบ ขณะที่ยอดเสียชีวิตพุ่ง 17 ศพ ติดเชื้อเพิ่มเป็น 82 ราย ส่วนประเทศไทยสั่งคุมเข้มทั้งคนและสัตว์ พร้อมสำรองยาเผื่อเกิดการระบาดในประเทศ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ เอช 7 เอ็น 9 ในประเทศจีนว่า ทางการกำลังตรวจสอบความเป็นไปได้ที่จะมีการระบาดจากคนสู่คน เนื่องจากมีการติดเชื้อมากกว่า 1 คนในครอบครัวเดียวกัน โดยขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้แล้ว 17 คน และติดเชื้อเพิ่มเป็น 82 คน โดยผู้เสียชีวิตจำนวน 11 คนอาศัยอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเปรียบเหมือนเมืองหลวงด้านการพาณิชย์ของประเทศ
รอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้สังหารสัตว์ปีกไปแล้วนับหมื่นตัว และมีการปิดตลาดการซื้อขายเป็ดไก่ไปแล้วหลายแห่งเพื่อชะลออัตราการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามความเข้าใจต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ยังเป็นปริศนาอยู่มาก โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าจะสามารถติดต่อระหว่างคนได้หรือไม่
เฝิงจื่อเจี้ยน ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยฉุกเฉิน กรมควบคุมและป้องกันโรคของจีน กล่าวว่า กำลังให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อกรณีการติดเชื้อของคนในครอบครัวเดียวกัน โดยกำลังวิเคราะห์เจาะลึกว่า การติดต่อที่เกิดระหว่างสัตว์ปีกสู่คน จะนำไปสู่การติดต่อระหว่างคนสู่คนได้หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบประวัติการสัมผัสกับสิ่งของหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด
เฝิงบอกว่า ทางศูนย์กำลังศึกษาการติดเชื้อในครอบครัวหนึ่งที่มีการติดเชื้อในพี่น้องสองคน โดยที่บิดาของพวกเขาได้เสียติดเชื้อในครอบครัวหนึ่งที่มีการติดเชื้อในพี่น้องสองคน โดยที่บิดาของพวกเขาได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้
"กรณีการติดเชื้อของคนในครอบครัวเดียวกัน ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงในความเข้าใจต่อลักษณะการติดต่อของไวรัสชนิดนี้ นั่นคือเป็นการติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คน ยังไม่มีหลักฐานการติดต่อจากคนสู่คนแต่อย่างใด" เฝิงระบุ และเพิ่มเติมว่า ความพยายามที่จะบ่งชี้ธรรมชาติของไวรัสเอช 7 เอ็น 9 นี้ ขาดข้อมูลที่เพียงพอจากผู้ติดเชื้อว่าพวกเขาสัมผัสกับสัตว์ปีกมาหรือไม่อย่างไร
หนึ่งวันก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อหลายรายไม่พบประวัติการสัมผัสกับเป็ดไก่ และได้รายงานว่ามี 2 ครอบครัวที่น่าสงสัยอยู่ในข่ายนี้ นั่นคืออาจจะติดต่อกันระหว่างคนสู่คน ก่อนที่ผลการตรวจสอบจะออกมาว่าครอบครัวแรกนั้นมีความเข้าใจผิดพลาด ส่วนอีกครอบครัวยังไม่เป็นที่สรุป และในไม่ช้านี้ องค์การอนามัยโลกจะส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อตรวจสอบว่าเชื้อหวัดนกสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถระบาดจากคนสู่คนได้หรือไม่
นายแพทย์เฉิง กวง หัวหน้าแผนกโรคระบาดของกรมควบคุมและป้องกันโรค เปิดเผยว่า จำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อมีประวัติที่ไม่ชัดเจนว่าได้สัมผัสกับสัตว์ปีกมาหรือไม่ นั่นคือผู้ป่วยเกือบครึ่งไม่สามารถจดจำประวัติการสัมผัสวัตถุของตัวเองได้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ที่ระบาดเมื่อ 10 ปีก่อน ผู้ป่วยประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถจดจำประวัติการสัมผัสสิ่งของของตัวเองได้เช่นกัน ทำให้การรับมือและแก้ปัญหาการระบาดเป็นอย่างล่าช้าจนลุกลามไปทั่วโลก
ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาของประเทศไทย ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ผู้แทนจากกรมปศุสัตว์ ผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไข้อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ในประเทศไทย หลังพบรายงานการระบาดในประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2556
โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานการที่ประชุม เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาภายในประเทศ สธ.จึงได้สั่งการให้เฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกและนกธรรมชาติ รวมทั้งดูแลการนำเข้าสัตว์ปีกในบริเวณชายแดน เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน และเพิ่มความไวในการตรวจจับการระบาด โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดนกให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง เผยแพร่ข้อมูลความรู้และแนวทางปฏิบัติในการคัดกรองและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ให้แพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดทราบอย่างทั่วถึง รวมถึงต้องประชุมปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
"พร้อมกันนี้ยังได้เฝ้าระวังใน 4 กลุ่มเป้าหมายเดิม คือ ผู้ที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและมีอาการปอดบวม ผู้ป่วยปอดบวมที่พบเป็นกลุ่ม ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยเป็นปอดบวม ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกอบรมแพทย์และสนับสนุนการฝึกอบรมแพทย์ในระดับจังหวัดให้ทราบแนวทางการเฝ้าระวัง และตรวจจับผู้ป่วยสงสัย รวมทั้งแนวทางการรักษาพยาบาล และให้ สธ.เตรียมสำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้เพียงพอ เผื่อกรณีมีการระบาดของโรคดังกล่าวไว้ด้วย และควรสำรองยาต้านไวรัสในรูปแบบยาฉีด จำนวนหนึ่ง เช่น ยา peramivir หรือ zanamivir รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย" ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 19 เมษายน 2556
- 1 view